"นายกฯ" ชื่นชมความร่วมมือไทย-เยอรมนี ผลักดันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเดินหน้ามาตรการสนับสนุน EV ให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย 



นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีที่ได้ร่วมกันผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ผ่านกิจกรรม "EV Hackathon: Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability #EV4Sustain" ซึ่งเป็นการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อยอดนโยบายส่งเสริมการใช้รถEV และนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ของรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565 โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้น เนื่องในวาระครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งเป็นกิจกรรมแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อพัฒนาอย่างยืน โดยมีหัวข้อการแข่งขัน คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) มุ่งขับเคลื่อนพันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Partners for Sustainable Growth) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่มีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

กิจกรรมครั้งนี้ยังสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ของประเทศตามนโยบาย 30@30 ที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะทางอากาศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์และพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลกภายในปี ค.ศ. 2030

"นายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดัน การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาของนายกรัฐมนตรีรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุ และการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และการพัฒนากำลังคน ทั้งนี้เพื่อพร้อมเดินหน้าพัฒนาประเทศรองรับนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพในภูมิภาค ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณสัมพันธไมตรีอันดีจากประเทศเยอรมนีที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไทยมาอย่างต่อเนื่อง" นายธนกรฯ กล่าว