"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ชี้สังคมไทยอมรับเพศที่ 3 เพิ่มขึ้น
วันที่ 12 มิ.ย. 65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเพศที่ 3 ในประเด็นต่าง ๆ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชนหากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 92.82 ระบุว่า ยอมรับได้ ขณะที่ ร้อยละ 7.18 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ายอมรับได้ในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น
ด้านการยอมรับของประชาชนหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 90.61 ระบุว่า ยอมรับได้ รองลงมา ร้อยละ 9.31 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับ
ผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่ายอมรับได้ในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.59 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 36.18 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.23 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วยกับการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ (จำนวน 833 หน่วยตัวอย่าง) ร้อยละ 57.62 ระบุว่า ได้ทุกกลุ่ม ขณะที่ ร้อยละ 42.38 ระบุว่า เฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.62 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วย มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือกในการกรอกข้อมูลเอกสารราชการทุกชนิด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 77.63 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.23 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2562 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยในปี 2565 มีสัดส่วน เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.18 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.51 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.32 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.68 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 17.18 มีอายุ 15-25 ปี ร้อยละ 17.02 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.32 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.34 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 22.14 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.75 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.07 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 36.26 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.22 สมรสแล้ว และร้อยละ 2.52 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่
ตัวอย่าง ร้อยละ 23.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.87 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.25 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.10 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.89 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.62 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.88 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.46ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.53 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.97 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.61 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 8.78 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.15 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 24.73 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.39 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.26 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.60 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.19 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.63 ไม่ระบุรายได้