ก. คลังส่งสัญญาณชะลอ "คนละครึ่งเฟส 5" ชี้ความจำเป็นในการใช้มาตรการเหวี่ยงแหลดลง หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ งบช่วยเหลือ ปชช. เหลืออยู่ราว 4 หมื่นล้านเท่านั้น 

 

วันที่ 13 มิ.ย.65 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจในระหว่างการประชุมร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้พิจารณามาตรการชุดใหม่ ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาพลังงานพุ่งสูง โดยให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย.นี้

เบื้องต้นมองว่าความจำเป็นในการใช้มาตรการเหวี่ยงแหลดลงไปแล้ว อย่างเช่นมาตรการคนละครึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปมากแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รายได้ของประชาชนเริ่มกลับคืนมา ขณะที่รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะนำมาใช้ เนื่องจากเงินกู้ที่จะนำมาลดกระทบให้กับประชาชนเหลืออีกราว 4 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ ปรับมาตรการด้านการคลังให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะเน้นการให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมากในขณะนี้

นายอาคมยังกล่าวอีกว่า การนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ก่อนหน้านี้ขณะที่สถานการณ์รุนแรงนั้น มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทมาใช้ เพื่อเยียวยาผลกระทบให้ประชาชน ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับเข้ามา ความจำเป็นตรงนี้ก็น้อยลงไป

ทั้งนี้สิ่งที่นายสุพัฒนพงษ์ให้โจทย์มา โดยเน้นความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม 2 เรื่อง คือทั้งผลกระทบจากโควิด-19 และ ราคาพลังงาน ที่มาปนกันอยู่ในขณะนี้ซึ่งกระทบกับกำลังซื้อ ส่วนมาตรการที่เหวี่ยงแบบทั่วไป คงต้องลดน้อยถอยลงไป อย่างเช่น ให้โจทย์มาว่ากลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจะช่วยต่อได้หรือไม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นกับทุกประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไก เพราะเมื่อราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว วันหนึ่งเมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น และอุปทานก็จะเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงเอง

สำหรับประเทศไทยเมื่อราคาสินค้าปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ขายสินค้าได้มากขึ้นด้วย ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ แต่ภาวะเงินฝืดหมายความว่าสินค้าขึ้น เศรษฐกิจหดตัว คนว่างงาน แต่ของไทยเศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ฟื้น ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วหัวทิ่มลงมาอีก