สภาฯ ประท้วงวุ่น "ฝ่ายค้าน" จวกรัฐบาลลักไก่ชงร่าง "คู่ชีวิต" ประกบ "สมรสเท่าเทียม" ชี้หลักการไม่ตรงกัน ฟาก "ก้าวไกล" ซัดแรง หากไม่เอาก็คือไม่เอา แต่อย่ายำรวมกัน 

 

วันที่ 15 มิ.ย.65 การประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับของพรรคก้าวไกล ที่คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการก่อนหน้านี้

ส่วนอีก 3 ฉบับ เป็นร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ ร่าง พรบ. คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงยุติธรรมเสนอ และฉบับของ พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ กับ ร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงยุติธรรมเสนอ

โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณา ที่ประชุมได้ถกเถียง เนื่องจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณามาก่อน จำเป็นต้องพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก แต่ฝ่ายรัฐบาลห่วงว่า เนื่องจากเป็นกฎหมายลักษณะดียวกัน หากมีการแยกพิจารณา และเมื่อลงมติรับหลักการไปแล้ว ฉบับฝ่ายรัฐบาลก็จะตกไปโดยอัตโนมัติ

ทำให้นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ สส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ได้เสนอให้นำร่างกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับพิจารณาในคราวเดียวกัน แต่ลงมติแยกกัน ทำให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นโต้ว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเสนอให้ร่างกฎหมายที่เหลือมาพิจารณาร่วมกับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลไปพร้อมกัน เพราะมีหลักการแตกต่างกัน ถ้าวิปรัฐบาลเห็นว่า เหมือนกันตรงไหนก็เอาปากกามาวงให้ดูหน่อยว่า เกี่ยวเนื่องกันทำนองเดียวกันตรงไหน การที่รวมเล่มร่างกฎหมายมาแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีมติรวมเล่ม ตกลงใครเป็นคนสั่ง

"ส่วนที่บอกว่า เขาจะเอาแบบนี้ เขาคนนี้ที่นั่งในสภาฯ หรือเขาที่นั่งทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เราต้องวางหลักให้ชัด ถ้าไม่เอาก็คือไม่เอา แต่อย่านำมารวมกัน พรรคร่วมฝ่ายค้านรับไม่ได้"

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้รวมพิจารณา เพราะขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายประกบ ทั้งนี้ตนเองอยู่ในสภาฯ มา ไม่เคยเห็นการกระทำเช่นนี้ และตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 64 ระบุชัดเจนว่า ญัตติใดที่ถึงวาระการพิจารณาในที่ประชุมแล้ว การเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกันจะกระทำไม่ได้ การที่ ครม. เสนอกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันเข้ามาอีก 2 ฉบับ และของรัฐบาลอีก 1 ฉบับ แล้วประธานฯ รับรองญัตติ และบรรจุเข้าระเบียบวาระ จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ผิด และหากมีการยื่นศาลรัฐธรรนูญ กฎหมายที่ประกาศใช้ก็ตกทั้งฉบับ ดังนั้น รัฐบาลอย่าดื้อ ดึงดัน เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย

โดยมีการประท้วงตอบโต้กันไปมาอยู่ราว 1 ชม. กระทั่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ต้องใช้วิธีลงมติ ประเด็นนี้ 3 ครั้ง เพื่อความชัดเจน แต่ระหว่างนััน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นท้วงประธานสภาฯ ว่า วันนี้การโหวตมีความหมายมาก เสียงละ 1 แสนบาท ดังนั้น ขอเตือนไว้ก่อนว่า อย่ากดบัตรแทนกัน และขอให้แพนกล้องไปให้ทั่วห้องประชุม เพราะวันนี้ยังไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิด ทำให้นายชวนแจงว่า ถ้าเป็นอย่างที่นายพิเชษฐ์พูด ขอให้ไปดำเนินคดีแจ้งความ เพราะหากพูดไปลอย ๆ จะทำให้เสียหายต่อสภาฯ

สำหรับ ผลลงมติเสียงข้างมากเห็นด้วยตามที่นายชินวรณ์เสนอรวมการพิจารณาทั้ง 4 ฉบับในคราวเดียวกัน ก่อนจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ในเวลา 11.50 น.