“ก้าวไกล” น้ำตาคลอสู้เสียงข้างมาก หลังดัน ร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ผ่านด่านรับหลักการเช่นเดียวกับร่างของครม. ร่าง พรบ. คู่ชีวิต ฉบับ ครม. และ ปชป.
วันที่ 15 มิ.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการพิจารณาร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ตามที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ, ร่าง พรบ. คู่ชีวิต ตามที่ ครม. เป็นผู้เสนอ, ร่างพรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ ครม. เป็นผู้เสนอ และร่าง พรบ. คู่ชีวิต ตามที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ซึ่งการอภิปรายส่วนใหญ่ของ สส. พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ ครม. และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ขณะที่ สส. พรรครัฐบาลให้ความเห็นในทิศทางตรงกันข้าม แม้จะยอมรับกับการให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิในการตั้งสถาบันครอบครัว แต่คัดค้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการอภิปราย และเป็นการทำหน้าที่ของนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง พบว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. กทม. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายของฝ่ายค้าน ได้ขออภิปรายพร้อมเปิดคลิปวีดีโอที่ระบุว่า สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อให้ สส. ฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากทราบว่ามติของวิปรัฐบาลจะลงมติไม่รับหลักการ แต่เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากประธาน ทำให้นายณัฐพงษ์ต้องพูดด้วยเสียงสั่นเครือ และน้ำตาคลอเบ้า
“ผมเป็นส.ส.สมัยแรก มองว่า ระบบสภาฯ ที่ควบคุมด้วยวิป จะผ่านกฎหายเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่ ผมไม่คิดว่า สมรสเท่าเทียมจะล้มด้วยมติวิปรัฐบาล ผมจึงไปอัดคลิปประชาชนเพื่อมาเปิดในสภาฯ แต่ประธานไม่อนุญาต ผมเคารพ ทั้งนี้ขอร้องสมาชิกวันนี้หากเลือกด้วยหลักเหตุผล ยึดประชาชน ไม่มีใครมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาล เพราะเป็นชัยชนะของประชาชน" นายณัฐพงษ์ กล่าว
จากนั้น เป็นการอภิปรายสรุป โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายพร้อมน้ำตาคลอเบ้าเช่นกัน
"หากสภาฯ รับหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ถือว่าใจกว้าง และเป็นชัยชนะของประชาชนไม่ใช่ของพรรคใด ทั้งนี้ น้ำตาที่ไหลไม่ใช่ของธัญ แต่เป็นน้ำตาประชาชนที่รอ สส.โหวต ขอฝากว่าสมรสเท่าเทียมคือกระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดเพื่อความเสมอภาค” นายธัญวัจน์ กล่าว
ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกฯ อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก็ได้ลงมติวาระแรกเป็นรายร่าง โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ตามที่พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอด้วยคะแนน 212 ต่อ 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ ยังได้มีมติรับหลักการร่าง พรบ. คู่ชีวิต ตามที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 229 ต่อ 167 เสียง งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
อีกทั้งที่ประชุมสภาฯ ยังมีมติรับหลักการร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 230 ต่อ 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
และที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พรบ. คู่ชีวิต ตามที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน ต่อ 251 เสียง 124 งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
จากนั้นที่ประชุมสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม และร่าง พรบ. คู่ชีวิต โดยพิจารณารวมกันทุกฉบับ จำนวน 25 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน แต่เมื่อ สส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้พิจารณาร่างของ ครม. เป็นหลักในการพิจารณาทำให้เกิดการทักท้วงจาก สส. พรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า แม้จะเป็นคณะกรรมาธิการฯ เดียวกันทั้ง 4 ร่าง แต่เสนอให้แยกพิจารณาเป็น 2 กลุ่มร่าง พรบ. นั่นคือ
1.ร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยใช้ร่างของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก
2.ร่าง พรบ. คู่ชีวิต ใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก
ก่อนที่ประธานสภาฯ จะสั่งลงมติว่าจะใช้ร่างใดเป็นหลัก ในที่สุดที่ประชุมสภาฯ มีมติให้ใช้ร่างทั้ง 2 ฉบับของ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา