"รมว. แรงงาน" ห่วงคนไทยถูกหลอกทำงานประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำคนหางานอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
วันที่ 19 มิ.ย.65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศกัมพูชา และไลฟ์ขอความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าตนเอง และคนไทยกว่า 30 คน ตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกชักชวนไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนถูกบังคับใช้แรงงาน และขายต่อเป็นทอด ๆ นั้น ขณะนี้ได้สั่งการกรมการจัดหางานเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนหางานทราบถึงอันตราย และกลวิธีที่สายหรือนายหน้าเถื่อนใช้หลอกลวงประชาชน โดยระยะหลังพบพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานด้วยการประกาศชักชวนไปทำงานในคาสิโนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แลกกับค่าตอบแทนที่สูง จากนั้นจะมีนายหน้าติดต่อเหยื่อผ่านทางแอปพลิเคชัน WeChat (วีแชต) เมื่อตกลงเรื่องการจ้างงาน และนัดหมายเรื่องการเดินทางข้ามชายแดนแล้ว จะพาเหยื่อลักลอบข้ามพรมแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อเข้าไปในเขตของประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย เมื่อไปถึงจะให้เหยื่อไปทำงานอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ และเป็นงานผิดกฎหมาย เช่น การหลอกลวงคนไทยด้วยกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกต่อ หรือหลอกชักชวนให้คนไทยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ยินยอมอาจถูกขายต่อเป็นทอด ๆ ให้กับนายจ้างรายอื่น หรือถูกกักขัง และทำร้ายร่างกาย และหากต้องการกลับประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าไถ่ เป็นเงินร่วมแสนบาท
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยิ่ง โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งช่วยเหลือคนไทยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งผมขอฝากถึงพี่น้องคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใด หากสายหรือนายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะไม่เพียงเสียทรัพย์ แต่อาจถูกบังคับใช้แรงงาน หรือขายต่อให้นายจ้างรายใหม่เป็นทอด ๆ หรือถูกทำร้าย บางกรณีหากไม่สามารถทำงานได้มีกรณีถ่ายเลือด และ เอาอวัยวะไปขาย ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมอบหมายกองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน จับตาสื่อโซเชียลมีเดีย หากพบผู้มีพฤติการณ์โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน หรือหลอกลวงว่าสามารถหางาน และได้เงินหรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงให้เร่งขยายผล หากพบมีความผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ จะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนหางานในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ทันเล่ห์กลของนายหน้าเถื่อน สามารถช่วยสอดส่องผู้มีพฤติการณ์น่าสงสัย ที่เข้ามาหลอกลวงคนในชุมชน และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้
ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องปรามและปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินคดีสายหรือนายหน้าเถื่อนแล้ว 88 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 115 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 10,730,600 บาท
“สำหรับผู้ที่ต้องการแจ้งเบาะแส หรือ ร้องทุกข์สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน หรือแจ้งเบาะแสโดยตรงที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02 354 1729” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว