"หมอมหิดล"ชี้รัฐต้องบอกความจริง เตือนโควิด-19 “เขม็งเกลียว” ป่วยจริงวันละ 5 หมื่นคน หวั่นบุคลากรการแพทย์วิ่งหัวหมุนอีกรอบ
เพจเฟซบุ๊กของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โพสต์ขอออกมาเตือนกันให้ดังๆ ว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคองภาพรวมไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐานโรคซาลงเองในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้าผลักดันประเทศที่กะปลกกะเปลี้ยกันต่อไป
สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำเริ่มตึงมือมากว่าสัปดาห์แล้ว จำนวนผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งส่วนน้อยที่ป่วยจากโควิดโดยตรง และส่วนใหญ่ที่ป่วยจากโรคอื่น แต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จนทำให้บุคลากรด่านหน้าที่กันไว้จำนวนหนึ่งสำหรับงานโควิด ต้องกลับมาทำงานกันหนักขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว และต้องวิ่งวุ่นหมุนเตียงกันมือระวิง เพื่อลดจำนวนคนไข้ที่ตกค้างรอรับไว้ในโรงพยาบาล สภาพเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวันที่แจ้งว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืออีกมาก ตัวเลขที่ว่านั้นเป็นแค่กรอบจำนวนเตียงที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข แต่ที่มีใช้งานอยู่จริงตอนนี้เริ่มร่อยหรอเต็มที ส่วนกรอบที่จะขยายได้ก็ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจนเกือบไม่เหลือหรอแล้ว
จากข้อมูลที่รับทราบมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริงเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะอยู่ที่ราววันละห้าหมื่นคนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวันที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมีปรากฏการณ์ยอดตกช่วงต้นสัปดาห์เช่นดังรูปของวันนี้ ซึ่งเป็นผลจากระบบการตรวจหาเชื้อและรายงานผลช่วงวันหยุด ส่วนตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 600 แล้วมาหยุดแถวก่อน 700 ดังในอีกรูปนั้น ก็เป็นผลจากระบบการรายงานที่จะมียอดวิ่งเข้ามาเป็นก้อนๆ ไม่ได้สม่ำเสมอในทุกวัน
วันที่ 4 กรกฏาคม เป็นวันสุดท้ายของระบบการเบิกจ่ายเงินค่าตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในรูปแบบเดิม เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รูปแบบปกติของระบบสุขภาพพื้นฐาน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ที่ได้เตรียมการรองรับกันไว้มานานก่อนหน้าแล้ว เมื่อประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่กลับปะทุขึ้นใหม่ แม้จะยังไม่แรงถึงครึ่งหนึ่งของช่วงพีคโอไมครอนครั้งก่อน แต่ต้นทุนประเทศในการดูดซับปัญหาเราร่อยหรอยอบแยบเต็มที ทั้งด้านงบประมาณและด้านบุคลากร หากไม่ออกแรงฮึดช่วยกันชะลอควบคุมการระบาดให้อยู่มือ อาจเห็นมีผู้ป่วยอาการรุนแรงตกค้างในชุมชนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วคงหลีกเลี่ยงดรามาครั้งใหม่ไม่พ้นแน่
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่คอยแต่ให้ท้ายเพื่อปลดหน้ากากหรือเพิ่มกิจกรรมทางสังคมที่เสี่ยงแต่เพียงด้านเดียว
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล