"นายกฯ" ห่วงใยประชาชนกรณีแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง เตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เตรียมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

 

วันที่ 6 ก.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อกรณีที่มีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่พี่น้องประชาชนว่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมสร้างความตื่นตกใจ

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งแนวทางการทำงานว่า หากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับแจ้งยืนยันว่า เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 7.8 ขึ้นไป ทางกรมฯ จะมีการแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยในทะเลอันดามันซึ่งมีทั้งหมด 130 หอ เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสึนามิ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต ใน 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้าน และชุมชน ทั้งนี้ ทางกรมฯ มีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวและแนวโน้มการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทุ่นสึนามิ ซึ่งหากมีการเกิดคลื่นสึนามิในทะเล ทุ่นจะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และส่งไปยังหน่วยงานระหว่างประเทศ NOOA ของสหรัฐอเมริกา และแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ หากทุ่นไม่สามารถทำงานได้ ก็ยังมีทุ่นสึนามิของประเทศต่าง ๆ ที่จะส่งสัญญาณไปยัง NOOA เพื่อประมวลผลได้เช่นกัน  และขณะนี้หากกรณีทุ่นของประเทศต่าง ๆ ไม่ส่งสัญญาณ การแจ้งเตือนจะเริ่มจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อน หากขนาดตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป ทาง NOOA จะส่งข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเกิดสึนามิ ดังนั้น ยืนยันว่าประเทศไทยยังได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหว และการเกิดสึนามิอย่างต่อเนื่องแน่นอน

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ยกระดับความพร้อมในการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยประเภทสึนามิที่ฝั่งอันดามัน โดยจะมีการทดสอบระบบทุกวัน และมีการสร้างความรับรู้ และความเข้าใจของพี่น้องประชาชนถึงระบบการแจ้งเตือนภัย และสึนามิของประเทศไทยว่า ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ และให้ข้อมูลหลักการปฏิบัติกรณีเกิดภัย การเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่ ศูนย์พักพิง ศูนย์อพยพชั่วคราว ที่แต่ละพื้นที่มีการเตรียมพร้อมไว้ตามแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร และอุปกรณ์ในการรับมือกับภัยทุกประเภท โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัด และมีการกำหนดฝึกซ้อมรับมือกับสึนามิในระดับจังหวัด อำเภอ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมแล้ว ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่า มีการเตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง