"ลุงป้อม" ร่วมประชุม "กปอ." จัดทำร่างนโยบายการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เน้นการมีส่วนร่วม สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคม
วันที่ 8 ก.ค. 65 เวลา เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พร้อมด้วยนายสุทธิศักดิ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวม 15 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ได้จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวม 15 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบาย มาตรการ และแนวทางเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนวทางปฏิบัติ และประสานงานหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วไปดำเนินการ รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐและปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และเสนอความเห็น และข้อสังเกตต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัย ตลอดจนติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ แนวทางเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัย ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นวาระที่คณะกรรมการฯ จะได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) นโยบายการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2566–2570 ซึ่งเป็นเสมือนเข็มทิศในการขับเคลื่อนงาน ด้านการป้องกันอุบัติภัยของประเทศให้มีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานขององค์ความรู้ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ 4 นโยบายหลัก ดังนี้
- นโยบายที่ 1 มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงจากอุบัติภัยครอบคลุมในทุกมิติ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจความเสี่ยงจากอุบัติภัยในทุกมิติให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
- นโยบายที่ 2 ยกระดับการบริหารจัดการอุบัติภัยให้ได้มาตรฐาน โดยการทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ปัจจุบัน
- นโยบายที่ 3 มุ่งเน้นการสร้างและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความปลอดภัยระดับสูงสุด ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
- นโยบายที่ 4 เสริมสร้างความเข้มแข็งการบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการอุบัติภัยของประเทศให้เป็นเอกภาพ เน้นการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการลดความสูญเสียและความเสียหายจากอุบัติภัย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพการจัดการความเสี่ยงจากอุบัติภัยแบบองค์รวม และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 8 คณะ ได้แก่
1) คณะอนุกรรมการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแนวทางเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
2) คณะอนุกรรมการป้องกันอุบัติภัยจากการจราจรทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก
3) คณะอนุกรรมการป้องกันอุบัติภัยเนื่องจากการทำงาน
4) คณะอนุกรรมการป้องกันอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในเคหสถานหรือในที่สาธารณะ
5) คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันอุบัติภัย
6) คณะอนุกรรมการ ด้านการบูรณาการข้อมูล วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการป้องกันอุบัติภัยอย่างยั่งยืน
7) คณะอนุกรรมการการป้องกันอุบัติภัยจังหวัด
8) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ตามข้อเสนอของสหประชาชาติ
โดยหลังจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) นโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็น และจะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป