ครม. เห็นชอบ! ให้ "การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค" กู้เงินในประเทศ 1.08 หมื่นล้านบาท ใช้ลงทุนแผนงานระยะยาวปี 65 เน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
วันที่ 12 ก.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศกรอบวงเงินรวม 10,863 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2565 จำนวน 5 แผนงาน โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จ ทั้งนี้ วงเงินลงทุนภาพรวมในแผนงานระยะยาวรวม 15,628.15 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในประเทศ จำนวน 10,863 ล้านบาท และเงินรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4,765.15 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนในแผนระยะยาวใหม่ ปี 2565 นี้ เป็นการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 5 แผนงาน ดังนี้
1. แผนงานสนับสนุนการดำเนินงานระยะที่ 5 เป็นการจัดหาสิ่งสนับสนุนในการดำเนินงาน เช่น ที่ดิน อาคาร ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้างและบำรุงรักษา ระบบไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
2. แผนงานจัดหา พัฒนา ติดตั้งและดูแลบำรุงรักษา ระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กรและระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า เป็นการปรับเปลี่ยนจากการใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป เป็นการจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอง โดยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น
3. แผนงานระยะยาวงานปรับปรุงระบบป้องกันและควบคุมในสถานีไฟฟ้า เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการส่งผ่านกำลังไฟอย่างต่อเนื่องและปรับปรุงระบบป้องกัน รวมถึงควบคุมในสถานีไฟฟ้าจำนวน 40 สถานี เพื่อลดผลกระทบจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
4. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นการพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. ให้มีช่องสัญญาณเพียงพอต่อการใช้งาน มีความรวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น พัฒนาโครงข่าย IP Access Network การขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร เป็นต้น
5.แผนงาน Big Data Platform เป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบงานให้เป็นแพลตฟอร์มขององค์กร เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงลึก