ศูนย์จีโนมฯ ยืนยัน ไทยพบแล้ว 1 ราย โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง 

 

วันที่ 20 ก.ค. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับการพบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แล้ว 1 รายในประเทศไทย ที่จังหวัดตรัง จากการเก็บตัวอย่างโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565

 

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และ upload ขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 90 ตำแหน่ง สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 อุบัติขึ้นครั้งแรกในอินเดีย ขณะนี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บตัวอย่างถอดรหัสพันธุกรรมได้ 338 คน

สำหรับคำถามที่ว่า BA.2.75 หลบภูมิเก่ง ดื้อวัคซีน ดื้อยา หรือไม่ เพจศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า BA.2.75 กลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ก่อนได้ดี และดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม และควรเลือกใช้ยาแอนติบอดีสังเคราะห์ (monoclonal antibody) ให้สอดคล้องกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่

 

 

แต่ที่น่าสังเกตคือการระบาดของ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย, ประเทศต้นกำเนิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 มีการระบาดไม่ยาวนาน ขณะนี้ใกล้จะสงบลงแล้ว อาจสืบเนื่องมาจากในอินเดียมีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจทำให้การระบาดของ BA.2.75 ซึ่งกลายพันธุ์มาจาก BA.2 ไม่ขยายวงกว้าง ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อนเช่นเดียวกัน

 

 

ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 สองรายแรกเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 แยกกักตัวเอง ไม่มีอาการใดๆ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงกับประชาชนว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในขณะนี้ที่แสดงให้เห็นว่า BA.2.75 มีการติดเชื้อและอาการที่รุนแรง (Virulence or Severity) แตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้านี้