"บิ๊กป้อม" เข้มนำทีมประเทศไทยเดินหน้า ปราบค้ามนุษย์ต่อเนื่อง หลังไทยยกระดับดีขึ้นเป็น เทียร์ 2
วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า การจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยหลังสหรัฐฯ ยกระดับประเทศไทยดีขึ้นจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี2565 เกิดจากการทำงานของ “ทีมประเทศไทย” ภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง ของประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป
สำหรับแนวทางปฏิบัติสำคัญๆ ที่ชัดเจนแล้วในปี 2565 จนถึงห้วงเวลาประเมิน ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อรักษาสถานะการประเมินในระดับ เทียร์ 2 และเพื่อให้ได้รับการประเมินในระดับที่สูงขึ้นต่อไป มีดังนี้
1. ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ไปสู่การปฏิบัติในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจคัดกรองแรงงานบังคับ (SOP) กลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (NRM) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (RP)
2. พัฒนา กำกับ และติดตามกลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) และนำไปสู่การปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก ส่งต่อ ช่วยเหลือผู้เสียหายและบุคคลที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยก
3. จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ เพื่อเป็นสถานที่เตรียมความพร้อมก่อนการคัดแยกผู้เสียหาย คัดกรองและคัดแยก ผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Presumed trafficking victims)
4. จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Counter Trafficking in Persons Center of Excellence) โดยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีกำหนดลงนาม MOU ในการประชุมเอเปค ปี 65
5. ขยายผลมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ภายใต้โครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ
6. ร่วมกับโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (USAID Thailand CTIP) และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล (Winrock International) เพื่อพัฒนาระบบและแนวทางป้องกันช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า การสนับสนุนจาก พลเอกประวิตร ฯ ในฐานะประธานกรรมการ ปคม. และ รัฐบาล ในการนำ "ทีมประเทศไทย" ของฝ่ายข้าราชการประจำทุกหน่วยงาน ทำให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและมีรูปแบบสลับซับซ้อนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด และเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ กล่าวคือในปี 2562-2565 มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น มิจฉาชีพมีการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเสนอรายได้ที่สูง หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะถูกนำตัวข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง จากนั้นก็จะถูกบังคับให้ทำงาน หรือไม่ก็บังคับให้ค้าประเวณี ตัวอย่างเช่น การหลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยแก๊งสแกมเมอร์ ซึ่งรัฐบาลสามารถช่วยเหลือคนไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ถึง 855 คน
พลเอกประวิตร ได้สั่งการให้ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯ กวดขันและให้ความสำคัญกับกรณีดังกล่าวเพราะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงอยากขอฝากและเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณาหางานทางออนไลน์ที่ดูดีเกินจริง เพราะอาจถูกหลอกลวงได้ ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือพบกรณีการหลอกลวงทางช่องทางออนไลน์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสืบสวนคดีต่อไป สามารถโทรสายด่วน 1191 ศูนย์รับแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือโทร 1441 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี