"อนุทิน" เรียกประชุมด่วน สั่งยกระดับเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร หลังองค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉิน เชื่อ มาตรการโควิด ช่วยรับมือได้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมดำเนินการแบบคู่ขนานแบบออนไซต์และออนไลน์
นายอนุทิน กล่าวว่า การเรียกประชุมด่วน สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา และก่อนหน้าที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศ ประเทศไทยก็พบผู้ป่วยยืนยันรายแรก เป็นชาวไนจีเรีย ที่เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 และอยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ซึ่งได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม สถานการณ์ยังปลอดภัย จึงมอบหมายให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ระมัดระวังผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ แต่ยังไม่จำเป็นต้องประกาศห้ามผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแต่อย่างใด โดยวันที่ 25 ก.ค.นี้ กรมควบคุมโรค จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ และจะประกาศระดับการเฝ้าระวังต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทย ดำเนินการดูและป้องกันโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรได้ ซึ่งมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล ที่ประชาชนปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะสามารถป้องกันทั้งโควิด-19 และฝีดาษวานรได้ ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ ลักษณะของโรคไม่มีความรุนแรง แต่สภาพที่ปรากฏต่อคนทั่วไป ทั้งตุ่มน้ำ หนอง ผื่นตามลำตัว ดูแล้วไม่ใช่โรคผิวหนังธรรมดา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หากมีการสัมผัสก็แพร่เชื้อได้ ดูแล้วน่าตระหนก โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ จึงควรจะต้องยกระดับการเฝ้าระวัง มีระบบในการดูแลกรณีที่ผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล ให้พิจารณาว่ากรณีมีผู้ป่วยเข้าข่าย จะต้องขอควบคุมรักษาก่อนหรือไม่ รวมถึงดูแลเรื่องความพร้อมของเวชภัณฑ์ วัคซีน มีมาตรการในสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่เชื้อ คัดกรองให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขให้ได้ต่อเนื่อง