ชาวเน็ตแห่ลงทัวร์ ฉะผู้ช่วยช่วยพยาบาลเดือด หลังโพสต์ตำหนิ "รถกู้ภัย" ด้านกู้ภัยเปิดภาพขณะช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น แต่สุดยื้อ เสียชีวิตระหว่างทาง ลั่นพยาบาลน่าจะเข้าใจดี ถ้าไม่วิกฤตคงไม่รีบขนาดนี้
วันที่ 27 ก.ค. 65 สืบเนื่องจากดรามาร้อน หลังผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความในเพจ “ชุมทางทุ่งสง” โดยระบุว่า
"ฝากถึงรถมูลนิธิสยามรวมใจนะคะ เวลาขอทาง ให้เวลารถคันหน้าดูรถทางซ้ายมือบ้างนะคะ ไม่ใช่คิดแต่จะจ่อตูดอย่างเดียว คิดถึงความปลอดภัยของคนอื่นเขาบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ความสะดวกของตนเอง ถึงน้องจะรีบแค่ไหน ด่วนแค่ไหน คิดถึงความปลอดภัยคนอื่นด้วยนะคะ”
โดยหลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้โพสต์ไป ได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยแทบทุกความเห็นกลับเป็นกระแสย้อนกลับไปที่ตัวผู้โพสต์ทั้งสิ้น ด้านผู้ช่วยพยาบาลรายดังกล่าว ขู่จะฟ้องกลับชาวเน็ตที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์
ด้านนายปิยะพงษ์ สุขชนะ ประธานมูลนิธิสยามร่วมใจปู่อินทร์ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ได้นำภาพกล้องหน้ารถมาเผยแพร่ข้อเท็จจริง หลังจากถูกโพสต์ตำหนิการขับขี่รถด้วยความเร็ว แต่ด้วยเจตนาที่ต้องการไปรับผู้ป่วยวิกฤตและข้อเท็จจริงตามภาพที่มีการขวางรถกู้ภัยจนมีความล่าช้ากว่าที่ควรราว 1 นาที หลังจากนั้นได้ไปรับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพหมดสติและบนรถเจ้าหน้าที่กู้ชีพได้พยายามทำ CPR หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ แต่ท้ายที่สุดผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง
โดยนายปิยะพงษ์ยังได้เผยแพร่ข้อความว่า หากไปได้เร็วกว่านี้แล้วหัวใจยังไม่หยุดเต้น ก็อาจจะช่วยเหลือไว้ได้ทันการ สำหรับผู้โพสต์นั้นมาทราบภายหลังว่า มีตำแหน่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ประจำจำอยู่ที่โรงพยาบาล น่าจะเข้าใจเรื่องการช่วยผู้ป่วยเป็นอย่างดี ถ้าอาการไม่หนักจริง ทางคนขับรถคงไม่รีบร้อนขนาดนี้ ใจเขา ใจเรา
ทั้งนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายปิยะพงษ์ สุขชนะ ประธานมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ทุ่งสง เปิดเผยว่าเบื้องต้นได้มีการสอบถามข้อเท็จจริง ด้านเจ้าหน้าที่คนขับรถได้นำคลิปจากกล้องหน้ารถ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีรถเก๋งสีเขียวขับกีดขวางเส้นทาง โดยไม่ยอมหลบหลีกทางให้ แม้จะเปิดสัญญาณเสียง สัญญาณไฟและน่าเป็นเสียงที่ได้ยินชัดเจน เป็นเสียงสัญญาณสากลที่ผู้ใช้รถจะต้องให้รถฉุกเฉินแซงไปก่อน รวมทั้งออกประกาศทางลำโพงเพื่อขอทางแล้ว แต่อีกฝ่ายก็ยังเพิกเฉย จนฝ่ายคนขับรถต้องตัดสินใจขับออกซ้ายเพื่อรีบเดินทางไปรับผู้ป่วย ซึ่งหากผู้ป่วยวิกฤตเข้าสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นมีเวลาเพียง 0-4 นาทีเท่านั้น