ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกชาวกะเหรี่ยง 2 ปี 8 เดือน ปรับ 3.1 แสน ชี้บุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แม้ยืนยันทำกินมาก่อน ด้าน P-Move เผยเป็นหนึ่งในกว่า 34,000 คดีหลังการรัฐประหารของ คสช.
 
 
วันที่ 27 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา .หนองหญ้าปล้อง .เพชรบุรี วัย 50 ปี เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อรับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา หลังถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 3.1 แสนบาท ไม่รอลงอาญา รวมถึงให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เกิดเหตุและให้ออกจากอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้คดีความของวันเสาร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 61 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นการยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน เข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าและเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ ซึ่งวันเสาร์ยืนยันว่าที่ดินผืนนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากแม่

โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน ให้ออกจากที่ดิน รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง และจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ 2,124,060 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำตัดสินพิพากษาของศาลชั้นต้นยกฟ้อง จนพนักงานอัยการได้ยื่นฎีกาและมีคำตัดสินในวันนี้ (27 ก.ค. 65) ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าของชาวกะเหรี่ยง .หนองหญ้าปล้อง .เพชรบุรี ที่มาร่วมให้กำลังใจ

จากคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเมื่อปี 2524 เส้นแนวเขตในพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 วันที่ 12 มิถุนายน 2524 คือเส้นที่วันเสาร์และชาวบ้านท่าเสลารับรู้ทั่วกันและไม่เคยรุกล้ำเข้าไป แต่ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลากเส้นแนวเขตใหม่ โดยอ้างว่าในปี 2558 คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โครงการ ‘One Map’ เพื่อให้หน่วยงานราชการใช้แผนที่เดียวกันในการทำงาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงยึดเอาเส้นแนวเขตที่ถูกขีดขึ้นใหม่เป็นเส้นทางการ และเส้นแนวเขตใหม่นี้เองได้รวมเอาพื้นที่ของวันเสาร์เข้าไปอยู่ในเขตอุทยานฯ ด้วย

การดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เปิดเผยข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ชี้ว่าตั้งแต่ในระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ 2557-2565 มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมกันอย่างน้อย 34,692 คดี