"นายกฯ" ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ กางแผนระยะต่อไป มุ่งเป้า "เทียร์1"
วันที่ 10 ส.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2564 และกล่าวชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ จนทำให้สถานะการค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2022 ของไทย ที่รายงานโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อยู่ในระดับ “เทียร์2” ดีขึ้นกว่าสองปีก่อนที่อยู่ในระดับ “เทียร์2 ที่ต้องจับตามอง” และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนสำเร็จเป็นหมาย เลื่อนสถานะสู่ “เทียร์1” และขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปในที่สุด
สำหรับผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของ ประจำปี 2564 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ (พม.) รายงานว่า สามารถจับกุมและเริ่มการดำเนินคดีอาญา 188 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 41.75 (ที่มีจำนวน 133 คดี) ในจำนวน 188 คดีนี้ เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์มากที่สุด จำนวน 107 คดี คิดเป็นร้อยละ 56.91 ของจำนวนคดีค้ามนุษย์ในชั้นสืบสวนทั้งหมด นอกจากนี้ สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 17 คน
มีการให้ความช่วยเหลือและการให้ความคุ้มครองผู้เสียหาย 414 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 79.22 โดยให้การคุ้มครองช่วยเหลือ เช่น
1. คุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง 148 คน
2. ลดระยะเวลาการคุ้มครองผู้เสียหายในสถานคุ้มครองจาก 158 วัน ในปี 2563 เป็น 143 วัน ในปี 2564 ทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องอยู่ในสถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น
3. เตรียมความพร้อมให้กับผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการทางศาลอย่างเหมาะสม
4. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 153.02 และผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาชดเชยในฐานะผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 123.9 ส่วนการป้องกันการค้ามนุษย์ได้ดำเนินการ เช่น การพัฒนากฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิคนต่างด้าวในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานสัมพันธ์ให้เหมาะสม
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระยะต่อไป เช่น
1. เพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย
2. ถอดบทเรียนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ยกระดับศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
4. เร่งจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม
5. ยกระดับระบบรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การบริหารจัดการข้อมูล และการส่งต่อคดี
6. จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น