"คลัง" เปิดให้ร้านค้า ลงทะเบียนร่วมโครงการ "คนละครึ่งเฟส 5" วันนี้วันแรก (15 ส.ค.65) ส่วนประชาชนเตรียมยืนยันสิทธิ์ 19 ส.ค. นี้ผ่านเป๋าตัง ขอบคุณ "นายกฯ และรัฐบาล" ที่เดินหน้าต่อโครงการฯ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่เป็นไปตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก สร้างเม็ดเงินสะพัดในชุมชน เจ้าของร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โดยล่าสุดวันนี้ (15 ส.ค.65) เป็นวันแรกที่กระทรวงการคลัง เปิดรับลงทะเบียนให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จนกว่าจะประกาศปิดรับสมัคร โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ /โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว และประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต่อไป ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ /โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ โดยคุณสมบัติและประเภทกิจการที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ (นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่าเดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนสาธารณะ) ไม่รวมถึงสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัล (gift voucher/gift card) บัตรเงินสด (cash card) และสินค้า/บริการรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการชำระล่วงหน้า (prepaid) ส่วนในวันที่ 17 ส.ค. 65 จะเปิดรับลงทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่ม สมัคร Food delivery Platform เฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประชาชน ซึ่งมีจำนวนสิทธิ์ 26.5 ล้านสิทธิ์ จะสามารถยืนยันสิทธิ์ เพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.65 และใช้สิทธิ์ในการซื้อสินค้าหรือบริการ ภายใต้โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ภายในวันที่ 14 ก.ย.65 ตั้งแต่เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ

"โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 เป็นโครงการที่ประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าพึงพอใจอย่างมาก เชื่อมั่นว่า การดำเนินการโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มอุปสงค์ในการบริโภค ช่วยเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว