"บิ๊กป้อม" ลุยสระบุรี ตรวจลุ่มน้ำป่าสัก-เจ้าพระยา สั่งหน่วยงานเตรียมรับมืออุทกภัย ช่วยเหลือประชาชน
วันที่ 15 ส.ค. 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การเตรียมการรับมือ และให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสระบุรี โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอแผนด้านทรัพยากรน้ำใน จ.สระบุรี สถานการณ์น้ำภาพรวมและความก้าวหน้าตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแนวทางการระบายน้ำฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเสนอการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ก่อนลงพื้นที่ไปยังจุดซ่อมแซมคันกั้นน้ำบริเวณบริเวณ 23 ขวาคลองชัยนาท-ป่าสัก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง และเดินทางไปวัดเชิงราก เพื่อรับฟังรายงานผลการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดเชิงราก พร้อมพบปะประชาชน
พลเอกประวิตร เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้มอบหมายให้ สทนช. กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัดสระบุรี ดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 2565 ที่ กนช.ได้เห็นชอบไว้ พร้อมมอบกรมโยธาธิการและผังเมือง พิจารณาก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก เพื่อลดผลกระทบจากการพังทลายของตลิ่งในช่วงน้ำหลาก อีกทั้งได้มอบให้ สทนช. ปภ. ทหาร ตำรวจ และจังหวัดสระบุรี สร้างการรับรู้และเข้าช่วยเหลือประชาชนทันที พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด และมอบหมาย สทนช. และกรมชลประทาน พิจารณาเร่งรัดการซ่อมแซมคันดิน 23 ขวาคลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมวางแผนปรับปรุงให้มั่นคงต่อไป
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงการด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยในปี 2561–2564 มีโครงการที่ดำเนินแล้วรวม 337 แห่ง ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่กว่า 7 หมื่นไร่ อาทิ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยยางหนึ่ง จ.ลพบุรี ฝายบ้านลำน้ำอ้อย 2 จ.สระบุรี การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทางรวมกว่า 7.5 กิโลเมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำป่าสักในระยะนี้ แม้ในภาพรวมปริมาณฝนจะลดลง แต่ยังคงต้องติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปริมาณฝนตกสะสมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไหลลงมายังพื้นที่ตอนล่างอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง