"หมออุดม​" เผย "นายกฯ" ไม่ขัดข้อง​ ไฟเขียวยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน พร้อมกับยุบ​ ศบค. เริ่ม 1 ต.ค. นี้​ ปรับโควิด-19เป็นโรคเฝ้าระวัง​

 

วันที่ 19 ส.ค. 65 นายแพทย์อุดม​ คชินทร​ ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือ​ ​ศบค.​ ระบุถึงกรณี การปรับโรคโควิด- 19 เป็นโรคเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ต.ค. 65 นี้จำเป็นต้องยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ออกหรือไม่​ ว่า​ ขณะนี้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากดูจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบจะมีประมาณวันละ 2,000 คน ส่วนคนไข้ ATK ในระบบ วันละประมาณ 30,000 คน และคาดว่ามีคนไข้ที่ไม่เข้าในระบบ ประมาณ 1-2 เท่า ทำให้ภาพรวมขณะนี้ มีคนไข้ประมาณ 60,000 คน ซึ่งอยู่ในระดับนี้มาประมาณ 1 เดือนแล้ว และคาดว่าหลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะลดลง ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบโรงพยาบาลประมาณ 1,000 คนต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลง จึงจะเข้าข่ายกันเป็นโรคเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการปรับไปเป็นโรคประจำถิ่นต้องรออีกระยะหนึ่ง​

ทั้งนี้นายแพทย์อุดม​ ย้ำว่า​ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยการประชุมในวันนี้จะมีการพิจารณาในประเด็นกรอบนโยบายในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีสิ่งที่ต้องทำ 2 เรื่อง คือการเตรียมการให้คนไข้ได้เข้าถึงการบริการที่สะดวก คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมาก พร้อมยอมรับว่าขณะนี้ การเข้าถึงสถานพยาบาลยังค่อนข้างลำบาก การได้รับยามีปัญหาเรื่องการพบหมอและการได้รับยา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเสนอต่อที่ประชุมในเรื่องการเข้าถึงระบบการรักษา

นายแพทย์อุดม ยังยืนยันว่า ขณะนี้มีปริมาณยาที่เพียงพอ ขอประชาชนอย่ากังวล ส่วนการที่ประชาชนไปที่สถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับยาเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะมีการกระจายยาไปทั่วประเทศ แต่ยืนยันว่า​ขณะนี้ยังมีปริมาณยาที่ ทั้งฟาวิพิราเวียร์​และโมนูลพิราเวียร์​ และในวันที่ 1 ก.ย. นี้ ก็จะมีการเปิดให้คนไข้เข้ารับยาที่ร้านยาในเครือข่ายได้ตามใบสั่งแพทย์​ ส่วนคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน ขณะนี้สามารถทำได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ 3 กองทุนหลักยังร่วมกับภาคเอกชนสร้างแอปพลิเคชันประกอบด้วยแอปฯ​ "Clicknic" ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั้งประเทศ ทั้งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 ส่วนแอปพลิเคชัน "หมอดี" จะดูแลรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศกับ "Good Doctor" ที่จะรองรับเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยทั้ง 2 แอปพลิเคชันรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โดยจะเป็นระบบเทเลเมดิซีน ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์และการสั่งยาผ่านระบบ โดยจะมีการส่งยาไปถึงบ้าน ทำให้สะดวกในการเดินทาง

ขณะที่การฉีดวัคซีน แม้หลายคนเข้าใจว่า โรคมีอาการไม่รุนแรง อยากให้เข้าใจว่าเชื้อรุนแรงเท่าเดิม เพียงแต่คนได้รับวัคซีนไปเยอะ ทำให้มีภูมิต้านทานในร่างกาย ส่วนความเข้าใจที่บอกว่าเพื่อนติดกันหมดแล้วอยากติดด้วย ตนเองมองว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการไม่ติดเชื้อดีที่สุดเพราะหากติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้ และหากมีอาการลองโควิด-19 ก็จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 พร้อมระบุว่าเข็ม 5 นั้นยังไม่จำเป็นเนื่องจากต้องเป็นกลุ่มบุคลากรด่านหน้า

นอกจากนี้ที่ประชุมจะพูดคุยกันถึงเรื่องการดูแลตัวเอง เนื่องจากโควิด-19 ยังไม่หายไปภายในปีนี้ โดยทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งประเมินตัวเองว่ามีความเสี่ยง​ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK​ และแยกตัวเอง​

ทั้งนี้นายแพทย์อุดม ระบุว่า หากปรับโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. 65 ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ พรก. ฉุกเฉิน แล้ว หน่วยงานศบค. ก็จะหายไปพร้อมกัน แต่จะต้องมีการเสริมความเข้มแข็งใน พรบ. โรคติดต่อ​ โดยจะต้องมีหน่วยงานคล้ายกับ ศบค. เข้ามาดู เพราะเรื่องโรคระบาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว ยังมีอีกหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีกฎหมายของตัวเอง จึงต้องมีหน่วยงานคล้ายคลึงกับ ศบค. เกิดขึ้น แต่อำนาจจะไม่แรงเท่า ศบค. เดิม พร้อมระบุอีกว่าการยุบ ศบค. ​สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด​ เบื้องต้นได้แจ้งเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ขัดข้อง