ก.ล.ต.สั่งลงโทษทางแพ่ง "หมอบุญ วนาสิน" ปรับเงิน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน
วันนี้ (26 ส.ค.2565) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบ กรณีการให้ข้อมูลของนพ.บุญ วนาสิน ตามสื่อหลายแหล่งว่า THG จะลงนามในสัญญาซื้อขายและนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ชนิด mRNA ยี่ห้อ Pfizer โดยจะรับมอบวัคซีนล็อตแรกจำนวน 5 ล้านโดสภายในเดือน ก.ค.2564 และได้มีผู้ขอให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบการให้ข่าวที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายในกรณีดังกล่าว
รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้รับการแจ้งเหตุสงสัย จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นายแพทย์บุญอาจบอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญที่อาจทำให้มีผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหุ้น THG อันอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่งพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
จากการตรวจสอบพบว่า วันที่ 12 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 4 ส.ค.2564 นพ.บุญ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของ THG ได้บอกกล่าว หรือเผยแพร่ข้อความต่อสื่อหลายแห่ง ทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่ประชาชนสามารถรับข่าวสารได้ในวงกว้างว่า THG จะลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ชนิด mRNA ยี่ห้อ Pfizer และจะรับมอบวัคซีนดังกล่าวจำนวน 5 ล้านโดสแรกภายในเดือนก.ค.2564
แต่ไม่ปรากฏว่า THG ได้มีการลงนามในสัญญานำเข้าวัคซีนภายในเดือนดังกล่าวจริง และช่วงต้นเดือนส.ค.2564 นพ.บุญ ยังคงยืนยันการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวได้ภายในเดือนส.ค.2564 แต่ต่อมาได้ยอมรับผ่านทางสื่อว่า ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนดังกล่าวตามที่เคยให้ข่าวไว้ได้แล้ว
ข้อความที่นพ.บุญ เผยแพร่ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชน และผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือข้อมูลอื่นใดของ THG ที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหรือต่อการตัดสินใจลงทุนใน THG การกระทำของนายแพทย์บุญเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 240 แห่ง พรบ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 296/2 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต.นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนพ.บุญ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ คือ 2 ล้านบาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงิน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้าม เป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้น จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ.กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ.กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่ง และเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง