"ศรีสุวรรณ" ยื่นฟ้อง กกพ. ขอให้ศาลเพิกถอนขึ้นค่าไฟ งวด ก.ย.-ธ.ค. ชี้เป็นการผลักภาระ รังแกประชาชน ทั้ง ๆ ที่เป็นความล้มเหลวรัฐบาล

 

วันที่ 31 ส.ค. 65 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ โดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และเครือข่ายภาคประชาชนที่เดือดร้อนจากการขึ้นค่าไฟฟ้า ได้เดินทางมายื่นคำฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการขึ้นค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ถึง 4.72 บาท อันเป็นการผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่เป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาล

สืบเนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติขึ้น "ค่าเอฟที" ใหม่ ไปอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือปรับเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการปรับค่าเอฟทีดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายในงวดใหม่ เดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4 บาท ถือเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงสุดตั้งแต่เรียกเก็บมา ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ประชาชนทุกครัวเรือนทั้งประเทศให้ร่วมรับผิดชอบอย่างไม่ละอาย

ทั้งนี้ การคิดค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปร มาจากความผิดพลาดของแผน PDP2018 ที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ได้อย่างเต็มที่ทำให้ประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 48,159.37 เมกกะวัตต์ แต่ปรากฏว่ามีการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศสูงสุดไม่ถึง 3 หมื่นเมกกะวัตต์ ซึ่งสถิติการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนสูงสุดเมื่อปี 2565 ก็แค่เพียง 30,936.5 เมกกะวัตต์ เมื่อ 23 เม.ย.65เท่านั้น ทำให้ประเทศมีไฟฟ้าสำรองเกือบ 50% หรือเกือบ 2 หมื่นเมกกะวัตต์ ซึ่งระบบสากลกำหนดให้มีไฟฟ้าสำรองได้เพียงประมาณ 15% ก็พอแล้ว แต่ประเทศไทย กกพ.กลับปล่อยให้มีมากมายมหาศาล ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้เอกชนตามสัญญาผูกมัด กลายเป็นค่าพร้อมจ่ายที่จะใช้ไฟฟ้าหรือไม่ก็ต้องจ่าย ทำให้บริษัทไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ ร่ำรวย อู่ฟู่กันเป็นแถว แต่ทว่าภาระทั้งหมดถูกผลักมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือนร่วมรับผิดชอบอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่บริษัทไทยไปสร้างและร่วมเป็นเจ้าของ และเขื่อนจากประเทศลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 5,720.60 เมกกะวัตต์แล้ว ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยยังมีไฟฟ้าล้นประเทศและเหลือใช้มากมาย แต่ยังจะซื้อเพิ่มขึ้นมาอีก 2 เขื่อนด้วยราคาที่แพงกว่าราคาที่ กฟผ.ซื้อโดยทั่วไป ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะผลักมาเป็นภาระค่าเอฟทีให้ประชาชนช่วยจ่ายนั่นเอง

ที่สำคัญ กกพ. ใช้อำนาจที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.56 ที่กำหนดให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ จะทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยและส่งเรื่องให้รัฐบาลแก้ไขแล้ว แต่ทว่ากลับเพิกเฉยกันไม่ยอมแก้ไข สมาคมฯ และเครือข่ายฯ จึงไม่อาจปล่อยให้ กกพ. ใช้อำนาจหรือดุลยพินิจไปโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนได้ จึงนำความมาฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติของ กกพ. ดังกล่าวเสีย