"พล.อ.ประวิตร"  ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่เขตมีนบุรี-หนองจอก สั่ง "ชัชชาติ"  เร่งสูบน้ำออกจากบ้านเรือนประชาชน ชม "ชัชชาติ" เป็นผู้ว่าฯ เข้มแข็ง เจ้าตัว ขอเวลา 1-2 วัน เพราะระดับน้ำหลายคลองยังวิกฤต อ้อนขอทางด่วนน้ำ ทำคลอง-อุโมงค์ แล้วแต่ความเหมาะสม

 

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตมีนบุรีและหนองจอก โดยจุดแรก พลเอกประวิตร เดินทางมายังประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนมีนบุรี โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ มารอต้อนรับ เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำ โดยก่อนการลงพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก

 

ซึ่งทันทีที่พลเอกประวิตรมาถึง ได้รับฟังการรายงานสถานการณ์จากนายชัชชาติ ว่าปัญหาในกรุงเทพฯ ขณะนี้ คือมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากประมาณ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายไปแล้ว 130 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบายน้ำฝั่งตะวันออก คือระบายลงคลองแสนแสบ เพื่อเข้าสู่ประตูพระโขนง หรือระบายลงผ่านคลองประเวศ แล้วตัดเข้ามาที่ประตูน้ำพระโขนงเช่นกัน ซึ่งการระบายน้ำกรุงเทพฝั่งตะวันออกทำได้ลำบาก เพราะไม่มีทางไป สุดท้ายมาตันตรงจุดนี้ จะระบายน้ำออกด้านล่างก็ลำบาก จะผลักดันน้ำออกบางปะกง ก็เป็นพื้นที่สูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณลาดกระบัง ในอนาคต ต้องมีแผนทำทางด่วนน้ำ ลงไปอ่าวไทยให้เร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านคลองประเวศ และย้อนกลับมาพระโขนง ปัญหาคือน้ำทุกสายมาลงคลองพระโขนง  ทำให้อันตรายเพราะน้ำจะเข้ามาในเขตเมือง ตนจะเสนอแผนต่อ สทนช. ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจจะเป็นการทำอุโมงค์หรือทางด่วนน้ำ ตัดจากคลองลำปลาทิว ลงสู่คลองร้อยคิว ของกรมชลประทาน

ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันได้รับการสนับสนุน จากทหาร กรมชลประทาน กองทัพเรือ นำเครื่องผลักดันน้ำ กำลังพลจากทหารบก ส่วนแผนระยะยาว ต้องเสนอเข้า กอนช.

 

ขณะเดียวกันนายชัชชาติ ยังกล่าวถึง คลองชลประทานที่ระบายได้ดีคือคลองสำโรง แต่อยู่นอกพื้นที่ กทม. ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ

 

พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นไร ประเทศเดียวกันใช้ได้หมด อย่างไรก็จะต้องช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากผลกระทบน้ำท่วม ให้เร็วที่สุด พร้อมกำชับ เลขา สทนช. ให้ประชุมโดยเร็ว พร้อมกำชับว่า ให้กรมโยธาธิการมาร่วมวางแผนด้วย ทั้งนี้ถ้าเป็นคลองจะทำได้เร็ว แต่หากเป็นอุโมงค์ จะเสียงบฯ มาก

 

ซึ่งนายชัชชาติ บอกว่า หลายฝ่ายจะร่วมมือกัน จะเป็นคลองหรือเป็นอุโมงค์ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและประหยัดงบประมาณ แต่หากเป็นคลองจะมีปัญหาเรื่องการจุน้ำได้น้อย และมีปัญหาเรื่องการเวนคืน

 

พลเอกประวิตร ยังฝากให้ช่วยทำคลองแสนแสบให้น้ำใส เพราะประชาชนใช้ประโยชน์จากคลองแสนแสบ

 

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จะมีการประชุม กนช. ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งที่ประชุมจะนำแนวคิดที่จะทำให้การระบายน้ำได้เร็วขึ้นมาพิจารณา

 

จากนั้น พลเอกประวิตร ได้ดูปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำ พร้อมสั่งให้เร่งช่วยเหลือหมู่บ้านที่ยังมีน้ำท่วมขัง หรือเรียกได้ว่าจมน้ำ เพราะบางที่จมมา 7 วันแล้ว โดยให้นำเครื่องสูบน้ำไปช่วยเหลือสูบน้ำออกโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งนายชัชชาติ รับปากจะรีบดำเนินการระบายน้ำลงสู่คลองหลัก โดยเมื่อน้ำในคลองหลักลดลงแล้ว ในอีก 1-2 วัน ก็จะปิดล้อมเร่งช่วยเหลือหมู่บ้านในพื้นที่ย่อยต่างๆ ที่ยังมีน้ำท่วมขัง พร้อมขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากรัฐบาลด้วย

 

ทั้งนี้พลเอกประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องดี และขอให้เร่งดำเนินการ พร้อมชื่นชมว่าได้ผู้ว่า กทม.ที่เข้มแข็ง ซึ่งนายชัชชาติตอบกลับว่า เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน

 

สำหรับประตูระบายน้ำแห่งนี้ จะระบายน้ำลงคลองแสนแสบ และอุโมงค์พระราม 9 โดยเส้นทางการระบายน้ำขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำ ปัจจุบันระดับน้ำนอกประตูอยู่ที่ 116 เซนติเมตร ด้านในอยู่ 63 เซนติเมตร โดยขณะนี้มีการเปิดประตูไว้ที่ 70 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่กระทบกับประชาชน หรือหากมีผลกระทบก็เพียงเล็กน้อย

 

จากนั้น พลเอกประวิตร เดินทางต่อไปบริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำหนองจอก เขตหนองจอก พร้อมรับฟังการบรรยายเรื่องการระบายน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา จากกรมชลประทาน และเดินทางต่อไปที่วัดวิบูลย์ธรรมาราม เขตหนองจอก สมทบกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพบปะกับประชาชน และแจกถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม