สภาฯ วุ่น! องค์ประชุมล่ม หลังพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล เสนอถกญัตติด่วนให้ สภาฯ ส่งเรื่องให้ ครม. จัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมการเลือกตั้ง สส. แต่ไม่ปัดตก ยกไปครั้งหน้า เดือน พ.ย.

 

วันที่ 15 ก.ย. 65 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกิดข้อถกเถียงกันอย่างหนัก หลังนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาฯ พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทำประชามติถามความคิดเห็นของประชาชน ต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ทำไปพร้อมกับการเลือกตั้ง

นายณัฐพงษ์ ผู้เสนอญัตติ ขยายความต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร มีกระบวนการรับรองโดยอาศัยการทำประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องสอบถามประชาชนผ่านการทำประชามติก่อน จึงทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ตนเองจึงต้องเสนอญัตติด่วนในวันนี้ (15 ก.ย. 65) คำถามในการจัดทำประชามติคือท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญปี 60 โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส่วนคำตอบมี 3 ข้อ คือเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และไม่แสดงความเห็น ทั้งนี้เชื่อว่าการจัดทำประชามติจะเป็นทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอประกบด้วยเพราะเป็นเรื่องที่เข้าใกล้กระบวนการเลือกตั้ง และมีความจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ และกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในเวลาไม่นาน เพียงแค่เวลาไม่เกิน 6 เดือน ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น กระบวนการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะครบวาระสภาฯ 4 ปี เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและใช้โอกาสไปในคราวเดียวกัน เราจึงเสนอให้มีการทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้ง สส. ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตัวแทนของประชาชน เพื่อที่จะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบ

จากนั้นเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของสมาชิก ซึ่งที่ประชุมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 เป็นอุปสรรคในการดำเนินการต่าง ๆ และให้ทำวันเดียวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว

แต่ปัญหาอยู่ที่การลงมติเห็นชอบกับญัตติทั้ง 2 ฉบับ แต่ที่ประชุมต้องรอสมาชิกเข้ามาลงคะแนนเป็นเวลานาน โดยมีการอ้างว่า การประชุมวันพฤหัสฯ ส่วนใหญ่จะไม่มีการลงมติเพราะเป็นวาระรับทราบรายงาน สมาชิกจึงออกมาไปข้างนอก จนนายศุภชัย โพธิ์สุ ประธานการประชุม แจงว่า ขณะนี้รอสมาชิกมาเป็นเวลา 31 นาทีแล้ว ยังเหลือองค์ประชุมอีก 5 คน จึงขอรอจนเวลา 40 นาที ทำให้องค์ประชุมครบคือ 242 เสียง จากนั้นสมาชิกลงมติ โดยมีผู้ลงมติเห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 215 เสียง และไม่ลงคะแนน 6 เสียง

นายศุภชัย จึงแจ้งว่า ถือว่าเสียงข้างมากเห็นด้วยกับทั้งสองญัตติ แต่นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนเองเจ็บปวดที่องค์ประชุมไม่ครบ แต่ที่ต้องยอมรับคือกระบวนการไม่ครบจะทำให้สิ่งที่ลงมติเป็นปัญหา ให้วุฒิสภาอ้างได้ว่าองค์ประชุมมีปัญหา เมื่อไปถึง ครม. จะมีปัญหาอีก ก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เมื่อลงมติไม่ครบก็ปิดการประชุมและญัตติไม่ตก แต่ยกไปครั้งหน้าได้ เมื่อเปิดประชุมเดือนพฤศจิกายนค่อยว่ากันใหม่ หากเดินหน้าต่อ ตัวญัตติจะมีปัญหาทีหลัง