"หมอยง" ชี้ความรุนแรงโรคโควิดลดลง เผยคนไทยติดเชื้อไปแล้ว 60-70 เปอร์เซ็นต์

 

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yong Poovorawan" ระบุว่า

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคในประเทศจีน ในตอนแรกความรุนแรงของโรค โอกาสที่จะลงปอดและมีปอดบวมเป็นจำนวนมาก และทำให้สูญเสียชีวิต 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาก็เห็นได้ชัดเจนบ้างในการระบาดแต่ละระลอก (wave) ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด

ข้อมูลของศูนย์ควบคุมป้องกันโรค สหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ออกมา จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตขอ covid 19 ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ในช่วงของเดลต้า ร้อยละ 15.1 อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก ในช่วง โอมิครอน เหลือร้อยละ 4.9 ในจำนวนผู้ที่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล

เช่นเดียวกับในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ในปีแรก ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์หรือกว่าเล็กน้อย หลังจากนั้นก็เริ่มลดลง และมาในช่วง โอมิครอน อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ น้อยลงมากๆ น่าจะน้อยกว่า 0.1% อย่างที่เห็นทุกวันนี้ จำนวนผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ก็น้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมากกว่าที่นอนโรงพยาบาล น่าจะมากกว่าเป็น 10 เท่า การที่ความรุนแรงลดลง และอัตราการเสียชีวิตน้อยลง มีผลมาจาก การได้รับวัคซีนไปเป็นจำนวนมาก การวินิจฉัยและการรักษาแต่เริ่มแรกทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ประกอบกับการมียารักษาที่ดีขึ้น และมีจำนวนมากที่เคยติดเชื้อมาแล้ว

 

 

และล่าสุดได้เปิดเผยข้อมูล จำนวนประชากรไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร หรือน่าจะอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ โดยระบุรายละเอียดไว้อีกว่า

ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่สามารถที่จะบันทึกจำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการได้ ยอดผู้ป่วยที่ได้จดแจ้งจะน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยเฉพาะในช่วง โอมิครอน มีการรายงานเฉพาะผู้ที่รับไว้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถบันทึกยอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริง จากการประเมินที่ได้มีการตรวจเลือดของสูงที่ผ่านมา น่าจะมีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร หรือน่าจะอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์

การศึกษาหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง กำลังดำเนินการอยู่โดยได้รับทุนวิจัยจากสวรส จะทำการศึกษาในกลุ่มประชากรตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยแบ่งกลุ่มต่างๆ จำนวน 1200 คน ได้รับความร่วมมือ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดยจะเริ่มทำการศึกษาในต้นเดือนตุลาคมนี้ และจะไปย้ายไปในจังหวัดอื่นๆ ทุกภาคของประเทศไทย โดยการตรวจเลือดหาร่องรอยการติดเชื้อหรือตรวจ antinucleocaosid และ anti spike IgG จะทำให้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อ และหรือมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าใด จากภาคสนาม

 

 

ระบบภูมิต้านทานต่างๆ จะสอดคล้องกับการป้องกันความรุนแรงของโรค เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน ในมาตรการการป้องกันโรค covid-19 ของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ สะท้อนถึงระบาดวิทยาของประเทศไทย และจะเป็นรายงานแรกของประเทศไทยที่ทำในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ในการสะท้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาถึง 3 ปี