"ศรีสุวรรณ" ร้อง มหาเถรฯ-สำนักพุทธฯ เอาผิด "ภิกษุณีสุทัสสนา" หรือหมอปลายพรายกระซิบ ขายสบู่น้ำมนต์ อ้างชำระล้างอวิชชา เสริมโชคลาภ หนุนดวงชะตา ชี้อาจเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย และมิใช่กิจของสงฆ์

 

วันที่ 27 ก.ย. 65 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำคำร้องส่งไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคม ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดภิกษุณีสุทัสสนาที่มีพฤติการณ์อาจเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย และมิใช่กิจของสงฆ์ อันจะสร้างความเสื่อมในบวรพุทธศาสนาได้

สืบเนื่องจากภิกษุณีสุทัสสนา หรือที่เราเคยเรียกกันในยามที่ยังเป็นฆราวาสว่า "หมอปลาย พรายกระซิบ" ได้ออกมาโพสต์คลิปในเฟซบุ๊กขายสบู่น้ำมนต์ ราคาก้อนละ 199 บาท โดยบรรยายสรรพคุณสุดอลังการว่า สามารถชำระล้างอวิชชาต่าง ๆ เพื่อเสริมโชคลาภ หนุนดวงชะตา ประสบความสำเร็จในชีวิต ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับพลังจากท่านยมบาล และท้าวเวสสุวรรณ อย่างเต็มที่ ช่วยแก้ดวงตก โดนทำของ แก้เจ้ากรรมนายเวรได้ อีกทั้งยังได้มีการโพสต์ขายวัตถุมงคลประเภทตะกรุด ที่อ้างว่าปลุกเสกด้วยตนเอง มี 2 แบบ ช่วยเรื่องโชคลาภ การเงิน และความรัก ความเมตตา ฯลฯ

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อของผู้คน ที่อาจอยู่ในภวังค์แห่งความไร้หนทางออกของชีวิต หรือคนโง่เขลาเบาปัญญา เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า "การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของพวกเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้วโดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว" (พระไตรปิฎก เล่มที่ 2 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2)

นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนศีล 311 ข้อของภิกษุณีในบทนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ในข้อ 46 ข้อ 47 และข้อ 48 ที่ทรงบัญญัติมิให้สมณะห้ามรับเงินทอง ห้ามซื้อขายด้วยเงินทอง และห้ามซื้อขายโดยใช้ของแลก เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาภิกษุณีสุทัสสนาจะอ้างว่า ตนเองบวชในประเทศศรีลังกา มีใบรับรองถูกต้องก็ตาม แต่เมื่อมาจำพรรษาอยู่ในประเทศไทยต้องเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎของสงฆ์ในไทยด้วย เฉกเช่นชาวต่างชาติที่ถือสัญชาติประเทศอื่น หากเข้ามาท่องเที่ยวหรืออยู่ในประเทศไทย หากทำผิดก็ต้องถูกกฎหมายหมายของไทยลงโทษเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเป็นผู้ทรงศีลเป็นภิกษุณี แต่กลับออกคลิปโปรโมตสินค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะเงินทอง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เป็นการถูกต้องกับบัญญัติของสงฆ์แต่หากภิกษุณีดังกล่าวอยากขายสินค้าต่าง ๆ ต่อไปก็ควรลาสิกขาไปจากความเป็นสมณะเสีย

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความพร้อมพยานหลักฐานส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนพระธรรมวินัยดังกล่าวโดยเด็ดขาดต่อไป และหากเพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ปอ.157 ได้