สภาทนายความ เตรียมเข้าแจ้งความ หลายข้อหา "ทนายไก่หมุน" วันพรุ่งนี้ ขณะที่ ผู้เสียหายสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความได้
เมื่อเวลา 12.00 น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความ และนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการและกรรมการประชาสัมพันธ์สภาทนายความ ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีที่มีพ่อค้าไก่หมุน ทำการปลอมแปลงเอกสาร แอบอ้างเป็นทนายความไปว่าความในศาลหลายคดี
ดร.วิเชียร กล่าวว่า เบื้องต้นสภาทนายความได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น ทราบว่าบุคคลดังกล่าว มีการปลอมใบอนุญาตทนายความ เนื่องจากเลขที่อนุญาตเป็นของบุคคลอื่น และเมื่อตรวจสอบรายชื่อก็พบว่า บุคคลดังกล่าวไม่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความของสภาทนายความ และไม่เคยมีใบอนุญาตทนายความมาก่อน ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พรบ.ทนายความ มีโทษทางอาญากำหนดชัดเจน และยังมีการปลอมแปลงใบอนุญาตทนายความ ซึ่งเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จะมีความผิดเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการแอบอ้างโดยประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ว่าเป็นทนายความ ให้คนหลงเชื่อ เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ส่วนการไปดำเนินการว่าความในศาล สำนักงานศาลยุติธรรมก็มีกฎระเบียบอาจเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาล
ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายทะเบียนสภาทนายความ ไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์บุคคลดังกล่าวที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.)
ส่วนทนายความที่ถูกสวมใบอนุญาตไปก็ถือว่าเป็นผู้เสียหาย สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของคดีที่บุคคลดังกล่าว ได้มีการว่าความในชั้นศาลไปแล้วนั้น คดีที่มีคำพิพากษาสิ้นสุดไปแล้ว จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ทางสภาทนายความไม่สามารถก้าวล่วง แต่ในส่วนคดีที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณา การกระทำของบุคคลดังกล่าวที่แต่งตั้งเป็นทนายความเข้าไปโดยไม่มีใบอนุญาต เข้าข่ายผิดระเบียบ สามารถเพิกถอนและแต่งตั้งทนายความที่ถูกต้องเข้าไปแทนได้ ส่วนกระบวนพิจารณาที่ผ่านมาแล้วก็สามารถรื้อได้ใหม่ ซึ่งศาลอาจมีดุลพินิจเห็นเอง หรือคู่ความจะร้องต่อศาลก็ได้เช่นกัน
ด้านนายวีรศักดิ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการกระทำของบุคคลดังกล่าว ว่ามีการไปละเมิดและต้องรับผิดในหลายส่วน ทั้งเข้าข่ายการกระทำความผิดมาตรา 33 ตาม พรบ.ทนายความ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นทนายความไปว่าความในศาล หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังพบเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมและใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ปลอม เนื่องจากใบอนุญาตทนายความเป็นรูปแบบสมาร์ทการ์ด และปรากฏลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การปลอมแปลงจึงมีความผิดตามมาตรา 269/1 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท และการที่นำเอกสารที่ปลอมแปลงไปใช้ทั้งที่รู้ เป็นความผิดตามมาตรา 269/4 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในกรณีที่เป็นผู่ปลอมแปลงด้วยและใช้บัตรที่ปลอมแปลงด้วย จะต้องรับโทษฐานใช้บัตรที่ปลอมแปลง เนื่องจากเป็นบทที่หนักกว่า
โดยในประเด็นข้างต้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาทนายความ จึงได้ดำเนินการมอบหมาย เตรียมให้นายทะเบียนไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ พฤติกรรมดังกล่าวยังเป็นการไปหลอกลวงทำให้ประชาชนเสียหาย เป็นลักษณะของการฉ้อโกง ซึ่งไม่ได้มีผู้เสียหายเพียงรายเดียว เพราะทำมาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี มีคนหลงเชื่อจำนวนมาก เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งผู้เสียหายสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ในท้องที่เกิดเหตุได้ ขณะเดียวกัน สภาทนายความได้มีการสั่งการให้กรรมการสภาทนายความภาค 6 ดำเนินการตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ถูกบุคคลดังกล่าวแอบอ้างแล้ว ซึ่งจะช่วยเหลืออย่างไรบ้างนั้น จะพิจารณาเป็นกรณีไป
ขณะเดียวกัน การเข้าไปดำเนินการในศาลเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล ซึ่งประเด็นนี้สภาทนายความไม่ก้าวล่วง แต่ศาลก็มีมาตรการในการดำเนินการอยู่
นายสุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมของบุคคลดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินคดีแบบต่างกรรมต่างวาระ จึงต้องไปดูว่า มีการดำเนินการในฐานะทนายความไปแล้วกี่ครั้ง แต่งตั้งเข้าไปเป็นทนายความแล้วกี่สำนวน ซึ่งอาจต้องรับโทษจำนวนมาก ปกติแล้วในขั้นตอนยื่นสำนวนเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล ศาลจะพิจารณาจากใบแต่งตั้งทนายความ และใบอนุญาตทนายความ ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลกลับมายังสภาทนายความ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสภาทนายความ ก็เตรียมที่จะพูดคุยน่วมกับศาล ในการดำเนินการวางระบบให้สามารถตรวจสอบข้อมูลระหว่างศาลและสภาทนายความได้ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก