กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่โพรงต้นไม้ 100 ปี หลังนักเดินป่าติดเชื้อราจากขี้ค้างคาว พร้อมปิดกั้นพื้นที่ กำหนดเป็นเขตพื้นที่พิเศษวางแผนสำรวจเชิงรุก ป้องกันไม่ให้ค้างคาวย้ายถิ่น ด้านลุงคนนำทางในพื้นที่เข้าตรวจสุขภาพไม่พบติดเชื้อ
กรณีข่าวการเกิด Histoplasmosis ของคณะกลุ่มศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ที่ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด
เช้าวันนี้ (5 ตุลาคม 2565) ที่ ม.5 บ้านวังหีบ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช ร่วมกับทีมอาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง มูลค้างคาว และดินภายในโพรงต้นไม้ และสวอปผนังโพรงต้นไม้ดังกล่าว เพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ และวางแผนที่จะสำรวจและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในพื้นที่
สำหรับจุดที่ถูกระบุนั้น เป็นเขตรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เจ้าหน้าที่ได้เข้ากันพื้นที่รัศมี 10 เมตร จากโพรงเป็นเขตหวงห้าม ป้องกันคนเข้าใกล้ต้นไม้หรือเข้าในโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ และเตรียมกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษในการให้ความรู้ และป้องกันไม่ให้ค้างคาว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือเคลื่อนย้ายถิ่น และจากการสำรวจต้นไม้ พบว่าเป็นต้น ช้าม่วง หรือชะมวง ขนาดใหญ่ อายุกว่าร้อยปี ด้านนอกมีโพรง ข้างในเป็นโพรงขนาดใหญ่ คนเข้าไปได้ประมาณ 7 คน และมีค้างคาวอาศัยอยู่ เช่น ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก โดยสภาพแวดล้อมในโพรงต้นไม้ เหมาะแก่การอาศัยของค้างคาว และการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราชนิดต่างๆ ซึ่งอุณหภูมิ ความชื้น มีช่องทางเข้าออกทางเดียว ลมไม่พัดผ่าน โอกาสที่จะพบความเข้มข้นของเชื้อราในอากาศจะสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เหมาะสมเป็นอย่างมากกับการเจริญเติบโตของเชื้อ
เมื่อคนเข้าไปในช่วงกลางวันซึ่งค้างคาวกำลังนอนพักนั้น การส่งเสียงดัง การถ่ายภาพ แสงแฟลช การส่องไฟ จะทำให้ค้างคาวตกใจ เครียด อึ ฉี่ และส่งเสียงร้อง ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ฟุ้งกระจายในโพรงได้ หากคนเข้าไป แล้วไม่ใส่หน้ากาก ก็อาจสูดเอาเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไปได้ หรือถึงแม้ว่าใส่ ก็อาจทำให้ร่างกายปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งจากค้างคาว อาจเกิดโรคขึ้นมาได้
นายสัตวแพทย์ภัทรพล ระบุว่า แนะนำแนวทางปฏิบัติให้แก่ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ ถึงข้อควรระวัง และหากเคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปพบแพทย์ เพื่อเอ็กซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า มีประวัติการคนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ถึงติดเชื้อรา ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา และกรมอุทยานฯ ได้จัดทำคู่มือความรู้
ขณะที่ นพ.สุทธิพจน์ ชยณัฎพงศ์ รักษาการนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นพ.ปณิธาน สื่อมโนธรรม ผอ.รพ.ทุ่งสง ได้เข้าพื้นที่เปิดเผยว่า โรคนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่และถือเป็นโรคที่ไม่น่ากลัว เพราะไม่สามารถติดต่อคนสู่คนได้เชื้อนี้จะอยู่ในมูลของค้างคาวหรือนก หรือสัตว์ปีกทั้งหลาย การดำเนินของโรคจะมี 3 รูปแบบ คือ การสูดเข้าปอดการมาติดตามผิวหนังที่เป็นแผลจะทำให้หายยากปกติเป็นแผล 2-3 วันจะหาย แต่หากเป็น 1-2 เดือนยังไม่หาย ให้สงสัยว่าเป็นเชื้อราอีกกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็จะมีการกระจายไปทั่วร่างกายจะมีต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต แต่เป็นเชื้อราที่รักษาได้มียาฆ่าเชื้อรา ส่วนที่รายงานในพื้นที่ยังไม่พบเชื้อ ผู้นำทางคณะที่ติดเชื้อวันนี้ก็ไป รพ.ทุ่งสง เอกเรย์ปอดก็ไม่พบเชื้อ ซึ่งบางคนหากมีภูมิแข็งแรงก็ไม่มีอาการ เราก็จะไม่รู้ แต่หากคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็จะมีโอกาสติดเชื้อสามช่องทางตามที่บอกข้างต้น ซึ่งไม่อยากจะให้ประชาชนตื่นตระหนก เป็นโรคที่เจออยู่และไม่ได้ติดต่อได้ง่าย คงจำข่าวเด็กติดอยู่ในถ้ำหลวงที่เชียงราย ซึ่งก็มีการเฝ้าระวังโรคนี้ด้วยก็ไม่พบแต่อย่างใด ซึ่งประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก