บช.น. ยอมรับ ส.ต.อ.คลั่งกราดยิง เคยเป็นตำรวจในสังกัด เป็นคนชอบเล่นปืน แต่ไม่ทราบปมยังมีปืน ทั้งที่พ้นสภาพตำรวจแล้ว ส่วนเรื่องยาเสพติดทาง บช.น. ไม่เคยพบประวัติในส่วนนี้
วันที่ 7 ต.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตำรวจตรีนิธิธร จินตกานนท์ รองโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุถึงกรณี ส.ต.อ. คลั่งกราดยิงผู้เสียชีวิต 37 ราย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อญาติของผู้เสียชีวิตกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยอมรับว่า อดีตตำรวจดังกล่าวเคยอยู่สังกัดที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งหลังได้บรรจุเข้ารับราบการตำรวจ ที่ สน.ยานนาวา ในตำรวจ ผบ.หมู่ งานปราบปราม ในยศสิบตำรวจตรีก่อนจะย้ายไป รับตำรวจ ผบ.หมู่ งานสืบสวนในยศสิบตำรวจโท ที่สน.ลุมพินี
ซึ่งการเข้ารับราชการตำรวจมีการดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ เช่น มีการตรวจสอบว่าเป็นบุคคลผิดหลักเกณฑ์ต้องห้ามหรือไม่ ก่อนจะส่งฝึกที่ศูนย์อบรมภาค 3
ระหว่างที่อยู่ในสังกัด บช.น. นั้น มีการพิจารณาเลื่อนขั้น 0.5 หรือ 1 ขั้น และไม่มีความพร้อมในการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สุดท้ายมีการขอย้ายกลับไปตามภูมิลำเนาที่จังหวัดหนองบัวลำภู
ด้านนิสัยใจคอจากการตรวจสอบตามเอกสาร พบว่า ระหว่างทำงานไม่สามารถทำงานกับเพื่อนร่วมงานได้ตามปกติ เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร เป็นคนชอบเล่นปืน
ส่วนประเด็นที่มีการพูดกันว่า เจ้าตัวมีปัญหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาตั้งสมัยมัธยม ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลไม่เคยพบประวัติในส่วนนี้ แต่ยอมรับว่าช่วงที่มีการย้ายไป รับตำแหน่ง ผบ.หมู่ด้านงานสืบสวนที่ สน. ลุมพินี อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจ้าตัวกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะหน้างานมีความใกล้ชิดที่ต้องทำงานสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ซึ่งทราบว่า พลตำรวจตรีนพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ที่ดูแลงานสืบสวน ได้สั่งการให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยให้ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับงานสืบสวน ตรวจสอบตำรวจฝ่ายสืบสวนที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังได้มีการกำชับให้ทุกกองบังคับการตรวจสอบคาดการณ์ตำรวจในสังกัดของตนเองที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง หากพบให้ดำเนินการลงโทษตามวินัยทันที
ด้าน พล.ต.ท.นิธิธร ระบุอีกว่า กรณีการกราดยิงดังกล่าวทาง บช.น. ได้มีการฝึการเตรียมความพร้อม ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดซึ่งมีการฝึกอบรมอยู่เป็นระยะมาก่อนหน้านี้ รวมถึงขณะนี้พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ดูแลงานด้านป้องกันและปราบปราม ยังให้ความสำคัญกับการฝึกข้าราชการตำรวจส่วนหน้าในทุกหลักสูตรสำคัญ
ส่วนกรณีผู้เสพยาเสพติดนั้น พลตำรวจเอกดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ บช.น. ดำเนินการตรวจสอบตามชุมชน ให้นำตัวส่งบำบัดผู้เสพยาเสพติด โดยส่งไปทั้งสิ้น 1,036 ราย จากนั้นต้องทำการติดตามเป็นบุคคลเฝ้าระวัง อาจกลับไปเสพยาเสพติดต่อหรือคลุ้มคลั่งก็เป็นไปได้ ผู้กำกับการ ในพื้นที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ
ส่วนของการปราบปรามอาวุธปืน มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมเป็นช่วง ๆ มีการดำเนินการปี 63 จับกุมได้ 687 ราย ปี 65 จับกุมได้ 930 ราย ซึ่งมีการจับกุมอาวุธเพิ่มมากขึ้น
ส่วนประเด็นที่ผู้ต้องหารายนี้ออกจากความเป็นตำรวจไปแล้ว แต่ยังคงมีอาวุธปืนได้อย่างไร ในข้อเท็จจริง ร้อยละ 90 ตำรวจจะทำเรื่องขอมีอาวุธปืนส่วนตัว ต้องมีการขอการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการต้องคดีหรือพ้นสภาพแล้วจะต้องยื่นรายชื่อดังกล่าวระงับห้ามใช้ ห้ามมี แต่ในกรณีนี้ยังไม่สามารถทราบได้ว่าขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับอาวุธปืนไปถึงขั้นใดหรือมีการดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ ภายใน บช.น. มีบุคคลเป็นตำรวจต้องคดีลักษณะดังกล่าว และถูกให้ออกจากระบบแล้ว 7 ราย ต่อไปจะต้องดำเนินการตรวจสอบประวัติเกี่ยวข้องโดยเฉพาะยาเสพติดจะไม่สามารถขออาวุธส่วนตัวได้
พร้อมจะสั่งการให้ ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยต้องพิจารณาในการออกใบรับรองความประพฤติให้กับลูกน้องตนเองเพื่อใช้ในการขออาวุธปืน โดยผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยจะต้องพิจารณาพฤติกรรมของลูกน้องตนเองหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ควรอนุญาตหรือออกใบรับรองเพราะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นำหน่วย รวมถึงทุกหน่วยภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องมีการสุ่มตรวจคาดการณ์ตำรวจทุกระดับชั้นเกี่ยวกับสารเสพติดซึ่ง ที่ผ่านมามีการดำเนินการสุ่มตรวจอยู่เป็นระยะแต่ต่อจากนี้จะให้การสุ่มตรวจมีความเข้มข้นมากขึ้นหากพบกลุ่มคนที่เข้าข่ายต้องสงสัยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงผู้นำหน่วยหรือผู้บังคับบัญชาต้องควบคุมดูแลและดำเนินการลงโทษตามวินัยตำรวจทันที