แกะเล่มหนังสือ Thaksin Shinawatra Theory and Thought กับบทสัมภาษณ์ "คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์" ที่เปิดใจเป็นคนครั้งแรก พูดถึง "ทักษิณ" กับลูกๆ โดยเฉพาะการเข้ามารับไม้ต่อทางการเมืองของ "อุ๊งอิงค์"

หากจะกล่าวถึงหนังสือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น หนังสือที่ใช้ชื่อหน้าปกว่า Thaksin Shinawatra Theory and Thought แปลเป็นภาษาไทย ว่า ทักษิณ ชินวัตร หลักการและความคิด ความยาว 224 หน้า เป็นการบอกเล่าชีวิตช่วงเวลาต่างๆ ของนายทักษิณตั้งแต่วัยเด็กยันลี้ภัยต่างประเทศ พร้อมความผูกพัน ความในใจของครอบครัว ที่สำคัญเป็นการเปิดใจของคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ เป็นครั้งแรกที่พูดถึงการเมือง และครอบครัว วันนี้ข่าวออนไลน์ช่อง 8 จะคัดมาให้อ่าน โดยเนื้อหาดังกล่าวอยู่ภาคของ Thaksin & Family ตอนเนื้อหา Thaksin’s Reflection


วันแรกที่คุณทักษิณ เข้าสู่การเมืองจนเป็นนายกรัฐมนตรี คุณหญิงและครอบครัวคุยกันอย่างไร

ครอบครัวก็ต้องดีใจเป็นที่สุดค่ะ และคิดกันว่าท่านคงทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เพราะชีวิตท่านก็ผ่านความยากลำบากกว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ ขณะนั้นที่คิด ท่านคงอยากใช้ความสามารถทั้งหมดมาทำประโยชน์ให้ประเทศ

ดีใจหรือกังวลถึงความท้าทายที่จะตามมา

มองเห็นแต่ความกังวลตามที่คุณย่า(คุณแม่ของคุณทักษิณ) เคยเตือนไว้แล้วว่า การมาทำงานการเมืองมีแต่ความเหน็ดเหนื่อย ถูกใส่ร้ายป้ายสีและอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่ห่วงสุดคือสุขภาพของท่าน

คุณหญิงเคยวิจารณ์คุณทักษิณเรื่องอะไรที่ซีเรียสที่สุด เพราะรักและหวังดีที่สุด


เคยต่อว่าท่านว่า ท่านเป็นคนทำอะไรจริงจัง งานก็หนัก ความเครียด แรงกดดันก็เยอะมาก ขอให้ท่านดูแลสุขภาพให้ดีไปพร้อมๆกัน


เรื่องอะไรที่คุณหญิงกับคุณทักษิณผูกพันกันมากที่สุด

โตมาด้วยกัน เจอกันมาตั้งแต่อายุ 15 ท่านอายุ 21 ไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน ผ่านความลำบากมาด้วยกัน สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน คิดและทำทุกอย่างด้วยกันทั้งหมด จึงผูกพันยาวนาน

วันแรกที่คุณทักษิณถูกรัฐประหาร ความรู้สึกแรกเป็นอย่างไร
ตกใจที่สุด เป็นห่วงลูกๆว่าจะปลอดภัยอย่างไร และเราก็ไม่รู้ถึงความน่ากลัวของรัฐประหารว่าจะลามมาถึงครอบครัวไหม และเราจะต้องตกอยู่ในสภาพไหน

คุณหญิงและครอบครัวรับมือกันอย่างไร

รับมือด้วยความนิ่ง และดูความปลอดภัยของลูกๆเป็นหลักในตอนนั้น

ตอนคุณทักษิณตัดสินใจลี้ภัย ได้คุยอะไรกันบ้าง คุณหญิงบอกอะไรกับคุณทักษิณ

เห็นด้วยที่จะให้ท่านอยู่เมืองนอกก่อนและให้ลูกๆ ช่วยคุยกับท่านว่า อย่าให้พ่อกลับมาไทย เพราะตอนนั้นท่านอยากกลับประเทศไทย อยากกลับมาสู้คดี เพราะท่านคิดว่าท่านบริสุทธิ์

คุณทักษิณเคยบอกว่า เวลาคิดอะไรชอบคิดเงียบๆเก็บไว้คนเดียว คุณหญิงคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ท่านไม่อยากให้ครอบครัวเครียดเลย อันนี้สำคัญที่สุด โดยท่านจะได้ไตร่ตรองจนตกผลึกก่อน แล้วใช้เวลาขับรถไปไกลๆด้วยกัน ค่อยๆเล่าและฟังความคิดค่างๆหรือความคิดเดียวกัน เราทำวิธีนี้ตั้งแต่สมัยเริ่มทำธุรกิจด้วยกันแล้ว การอยู่ด้วยกันสองคนในรถช่วยให้สามารถคุยกันด้วยดี แล้วจบลงได้ เพราะท่านทราบว่า เราคงไม่กระโดดลงกลางทาง(หัวเราะ)

วันแรกที่คุณอิ๊งค์ตัดสินใจลงการเมืองเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คุณหญิงและครอบครัวคุยอะไรกันบ้าง

ลูกก็มาบอกว่ามีความตั้งใจ พอเห็นความตั้งใจของลูกเลยแล้วแต่ลูก เพราะลูกโตแล้ว เราต้องเคารพในการตัดสินใจและไม่อยากให้ลูกกดดัน ก็คอยสนับสนุนให้กำลังใจเขาห่างๆ

คุณทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า เวลามองกระจกแล้วเห็นคุณหญิง รู้สึกสงสารคุณหญิง คิดว่าทำไมคุณทักษิณ ถึงรู้สึกแบบนั้น เพราะอะไร

(ยิ้ม)ไม่รู้เหมือนกัน เพราะคำพูดที่เคยเตือน แล้วท่านคงจำได้ดี และตอนนี้ท่านคงเข้าใจแล้ว และคงรู้สึกเศร้า และท่านคงอยากจะกลับมาเลี้ยงหลาน เป็นตายาย ปู่ย่า เหมือนครอบครัวปกติ

เรื่องไหนที่ทำให้คุณหญิงและครอบครัวมีความสุขที่สุด แม้ว่าคุณตาทักษิณจะไม่ได้อยู่ด้วย

ล่วงเลยมาถึงเวลานี้แล้วก็ขอให้ท่านมีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ในฐานะคุณยาย คุณหญิงฝันอะไร ตั้งความหวังอะไรกับหลานๆ ในวันเวลาที่สังคมไทยมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ค่อนข้างริบหรี่

ไม่ได้คาดหวังอะไร อยากให้เขาโตมาร่าเริงแจ่มใส พ่อแม่เขาก็ดูแลกันดีเต็มที่ เพราะคิดว่าเลี้ยงลูกมาอย่างดีแล้ว และลูกก็คงเลี้ยงลูกของตัวเองได้ดีกว่าแน่ แค่อยากเห็นหลานๆเติบโตมาอย่างมีความสุข ร่าเริง สดใสตามวัยกับสุขภาพที่แข็งแรง และรักกัน อย่างอื่นก็ให้เป็นไปตามวันเวลา แต่คุณตาจะได้กลับมาเห็นความเติบโตของหลานหา ก็แอบคิดว่าคงมีสักวัน แน่นอนที่หลานๆทุกคนจะได้อยู่พร้อมหน้ากับคุณตาอันเป็นที่รัก