"หมอริท" ขอบคุณ "โตโน่" ถึงความเสียสละต่อบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมฝาก 6 มุมมองชวนคิด เผยต่อให้ว่ายน้ำเป็น 10 รอบ ได้รับเงินบริจาคมากกว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาลก็เหนื่อยเท่าเดิม
จากกรณีที่ ศิลปินหนุ่ม "โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์" ทำภารกิจสำเร็จ หลังออกว่ายน้ำจากฝั่งไทยในช่วงเช้าวานนี้ (22 ต.ค. 2565)ด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร ที่จุดองค์พญาศรีสัตตนาคราช เขตเทศบาลเมืองนครพนม ไปกลับระหว่าง วัดพระธาตุศรีโคตรบอง แขวงคำม่วน สปป.ลาว และว่ายกลับถึงฝั่งไทยอย่างสวัสดิภาพ ซึ่งการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อการกุศล โดยตั้งกองทุนรับบริจาคช่วย รพ.นครพนม และ รพ.แขวงคำม่วน ถึงภารกิจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่กระแสวิจารณ์ต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่
อย่างล่าสุด ศิลปินรุ่นน้องคนสนิทของหนุ่มโตโน่ อย่าง "หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช" ก็ได้ฝาก 6 มุมมองถึง "โตโน่" โดยได้ทวีตข้อความระบุว่า ยินดีด้วยกับการ #ว่ายน้ำข้ามโขง ของพี่ #โตโน่ภาคิน ในวันนี้นะครับ ที่ปลอดภัย และได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก อย่างแรกต้องขอขอบคุณในน้ำใจและความเสียสละของพี่ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนอื่นแบบพี่ ไม่ได้หาได้ง่ายเลย นับถือใจจริง ๆ
(1) ในบทสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่พี่พูดว่า ที่พี่มาว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะหมอและพยาบาลเค้าเหนื่อยกว่า เสี่ยงกว่า เลยอยากขออนุญาตฝากมุมมองไว้ซักนิดครับ เผื่อพี่อาจจะลืมมองเหตุผลพวกนี้นะครับ (ไหน ๆ คนก็สนใจโครงการพี่เยอะแล้ว)
(2) ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ
(3) ซึ่งจริง ๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม
(4) ซึ่งทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอ ๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ
(6) พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเค้าทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริง ๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค?
(7) ส่วนตัวมองว่า การบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ที่มา หลักการ จุดประสงค์ของโครงการและการนำเงินไปใช้ต้องชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปในตัวด้วยครับ ถ้าพี่สื่อสารจุดนี้ได้ด้วย คิดว่าคนไม่เห็นด้วยน่าจะน้อยลงนะครับ และทำให้โครงการของพี่ดูมีเหตุสมควรมากขึ้น