เปิดประวัติ "ปิยะ ตระกูลราษฎร์" ดารา-นักแสดงรุ่นใหญ่ ผู้แต่งเพลง "ไก่จ๋า" ก่อนจะเป็นพระเอก เคยเป็นเด็กวัด-ขับรถสามล้อถีบ มาแล้ว
วันที่ 2 พ.ย.65 มีรายงานว่าดารา-นักแสดงรุ่นใหญ่ "ปิยะ ตระกูลราษฎร์" นักแสดง นักแต่งเพลง และนักพากย์มวยชาวไทย หลังป่วยโรคมะเร็งและรักษาตัวมาอย่างยาวนาน ได้เสียชีวิตแล้ว ในวัย 68 ปี ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
โดย ปิยะ มีชื่อเสียงจากบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก (2521) และงานแต่งเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะเพลง "ไก่จ๋า"
ด้าน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้บันทึกประวัติของ "ปิยะ ตระกูลราษฎร์" ไว้ว่า เกิดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. พ.ศ. 2497 ปัจจุบันอายุ 68 ปี "ปิยะ" เกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนจบชั้น ม.ศ. 5 แล้วก็เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัดพระพิเรนทร์ เคยเป็นช่างตัดผม รับจ้างแบกของในตลาดสด ขับรถสามล้อถีบ
ก่อนที่ในปี 2516 เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการแสดงเป็นตัวประกอบหางแถวประเภทโป้งเดียวจอด รอคอยงานอยู่แถวหลังเฉลิมกรุง เช่นเรื่อง นี่หรือชีวิต (สมบัติ) แต่ที่แสดงแล้วมีชื่อเป็นที่รู้จักก็คือ "มนต์รักแม่น้ำมูล" (2520 สมบัติ-นัยนา-เนาวรัตน์) สร้างโดย ดวงกมลมหรสพ ของ กมล กุลตังวัฒนา
โดยในเรื่องปิยะได้บทเป็นพระรอง มนต์รักแม่น้ำมูล ประสบความสำเร็จเกินคาด ทำให้กมลตัดสินใจที่จะสร้างภาพยนตร์แนวสะท้อนปัญหาสังคมไทยในเรื่อง "ครูบ้านนอก" บทประพันธ์ของ คำหมาน คนไค
โดยผลักดันให้ สุรสีห์ ผาธรรม ผู้ช่วยผู้กำกับเรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล ขึ้นมาเป็นผู้กำกับการแสดง แต่พระเอกของเรื่องนั้น กมลเลือกปิยะขึ้นมาเป็นพระเอกท่ามกลางเสียงคัดค้าน แถมนางเอกก็ยังหน้าใหม่อีก หลายคนในทีมงานเริ่มไม่แน่ใจในอนาคตของครูบ้านนอกเพราะหน้าหนังขายไม่ได้ มีแต่เพียงกมลเท่านั้นที่เชื่อว่า ต้องขายได้
แต่เมื่อครูบ้านนอกสร้างเสร็จ ก็ถูกกดราคาจากสายหนังอ้างว่า ไม่มีใครรู้จักพระเอก-นางเอก เป็นหนังสารคดี ไม่มีจุดขาย แต่กมลก็เสี่ยงเปิดฉายรอบพิเศษโดยเชิญนักเขียนฝีปากกล้าอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้ชมพร้อมยินดีน้อมรับคำวิจารณ์
แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับให้คำชมว่า “ครูบ้านนอก เป็นหนังดีที่น่าดู” เท่านั้นเอง จากภาพยนตร์ที่ไม่มีกระแส จากดาราที่ผู้คนไม่รู้จัก จากปากต่อปาก ก็เล่าลือจนทำให้ครูบ้านนอกประสบความสำเร็จเกินคาด นักศึกษาวิทยาลัยครูทั่วประเทศต่างแห่กันไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้
ครูบ้านนอก เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2521 นอกจากจะทำรายได้สูงแล้ว ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากประเทศรัสเซีย 2 รางวัลคือ ภาพยนตร์สร้างสรรค์และผู้กำกับดีเด่น ปิยะ-วาสนา จึงแจ้งเกิดทันทีจากภาพยนตร์เรื่องนี้และถูกจับคู่ให้แสดงเป็นครูคู่กันอีกหลายเรื่องและยังส่งผลให้เกิดกระแสการสร้างหนังครูขึ้นมา
จากนั้นปิยะก็มีผลงานภาพยนตร์ติดต่อกันหลายเรื่อง เช่น
- ทุ่งรวงทอง (2522 ปิยะ-นิรัชรา)
- ส.ต.ท.บุญถึง (2522 ปิยะ-จารุณี)
- มนุษย์ 100 คุก (2522 ปิยะ-ยอดชาย)
- อยุธยาที่ข้ารัก (2522 กรุง-ยอดชาย-ภาวนา)
- ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523 ปิยะ-วาสนา)
- จุฬาตรีคูณ (2523 สรพงศ์-ปิยะ-พิศาล-วาสนา-เนาวรัตน์)
- ลูกแม่มูล (2523 ปิยะ-สุพรรษา)
- สู้ยิบตา (2523 ปิยะ-ลลนา)
- เทพเจ้าบ้านบางปูน (2523 ปิยะ-วัลภา)
- สันกำแพง (2523 สรพงศ์-นันทิดา-พอเจตน์-ธิติมา)
- สาวน้อย (2524 จารุณี-ไกรสร-อำภา)
- ทุ่งกุลาร้องไห้ (2524 ปิยะ-อนุสรณ์)
- ครูวิบาก (2524 ปิยะ-วาสนา)
- ครูดอย (2525 สรพงศ์-ปิยะ-วาสนา-นันทิดา)
- คุณรักผมไหม (2525 ทูน-จารุณี-ปิยะ)
- มนต์รักลำน้ำพอง (2525 ฤทัยรัตน์-พอเจตน์)
- เพื่อน-แพง (2526 สรพงศ์-ปิยะ-ชณุตพร-คะนึงนิจ)
- นางสิงห์แก้มแดง (2526 สรพงศ์-จารุณี)
- สวรรค์บ้านนา (2526 ปิยะ-แสงเดือน)
- ไม้เรียวหัก (2527 ทูน-สินจัย)
- ครูปิยะ (2527 ปิยะ-ทวนธน)
- ๑๐ คงกระพัน (2527 ปิยะ-ทวนธน-สินจัย)
- ครูชายแดน (2527 สรพงศ์-ปิยะ)
- ยอดนักเลง (2527 ไชยยันต์-ปิยะ-โกวิท)
- หมอบ้านนอก (2528 ปิยะ-จารุณี)
- ด่วนยะลา (2530 ปิยะ-สมชาติ-วิยะดา)
ปิยะ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำชายจากภาพยนตร์เรื่อง เทพเจ้าบ้านบางปูน นอกจากนี้ ปิยะยังเคยกลั่นน้ำตามาเป็นเพลงดัง ๆ ให้สายัณห์ สัญญา ขับร้อง เช่นเพลง ไก่จ๋า หนึ่งปีที่ทรมาน ศึกอัศวินดำ จนโด่งดังทั่วประเทศ สุดท้ายปิยะยังเบนเข็มจากดาราไปเป็นนักพากย์มวยจนเป็นที่รู้จักทั่วไป
ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ภาพ