กูรูการเมือง ฟันธง รัฐบาลยังไม่ยุบสภาเร็วๆนี้ แต่ "บิ๊กตู่" จะใช้วิธีปรับครม.เพื่อกระชับอำนาจ พร้อมระบุ เงื่อนไขนายกฯ 2 ปี ไม่มีอยู่จริง เมื่อถึงเวลาอาจมีการยื่นตีความใหม่อยู่จนถึงปี 2570
สืบเนื่องจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย พูดถึงเรื่องการยุบสภา โดยโพสต์ข้อความระบุว่า “อย่างที่เคยพูดไว้ สมัยประชุมนี้จะมีปรากฎการณ์ 2 เรื่อง เกิดขึ้น คือ 1.ส.ส.เริ่มลาออก 2.สภาล่ม”
“จากนั้นปรากฏว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้ง 2 เรื่องเกิดขึ้นในวันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ ฟันธงเหตุการณ์นี้สะท้อนว่า 1.สภาไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะประชุมไม่ได้ ส.ส.อยู่ไปก็เปลืองเงินเดือนภาษีอากรของประชาชน 2..รัฐบาลไม่สามารถใช้สภาเป็นเครื่องมือในการออกกฎหมายได้อีกต่อไปแล้ว กลิ่นการยุบสภา จึงโชยมา”
ล่าสุด !! รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักพูด และนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ระบุว่า กระแสข่าวการยุบสภาเป็นเพียงความคิดเห็นของคนที่อยากให้ยุบ แต่ผู้มีอำนาจไม่ได้คิดเช่นนั้น เนื่องจากต้องการยื้อระยะเวลาให้ยาวนานที่สุด ส่วนเหตุการณ์สภาล่มที่นำมากล่าวอ้างเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งในวันดังกล่าวไม่มีวาระสำคัญ เป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นกรรมาธิการ ซึ่งถือเป็นวาระปล่อยผี อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีปัญหาระหว่างกัน
รองศาสตราจารย์ สุขุม กล่าวอีกว่า การยุบสภาสามารถทำได้ก่อนหมดอายุ 1 วันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ระหว่างนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะอาศัยความได้เปรียบของอำนาจรัฐ ใช้วาระตรวจราชการลงพื้นที่หาเสียงแฝงไปในตัวแบบเนียนๆ ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ใช้วิธีดังกล่าว
แต่สิ่งที่อาจจะได้เห็นก่อนปรากฏการณ์การยุบสภา ภายในอาทิตย์นี้ คือการปรับคณะรัฐมนตรีที่ว่างอยู่ 3 เก้าอี้ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการนำคนของตัวเองเข้ามาเพื่อกระชับอำนาจ
ส่วนคำถามมองเกมอนาคตทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องแยกทางกันหรือไม่
รองศาสตราจารย์ สุขุม บอกว่า หากเป็นจริงอาจจะทำให้คะแนนของพรรคพลังประชารัฐลดลง กลายเป็นพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคที่พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าไปสังกัดใหม่ด้วย แต่ส่วนตัวมองว่า โอกาสที่ทั้งสองจะแยกจากกันเป็นไปได้ยากมาก เพราะพล.อ.ประวิตร มีความสุขกับการอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้เสียสละอย่างที่เคยทำ ซึ่งเงื่อนไขวาระนายกฯ 2 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการชูให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะเมื่อถึงเวลานั้น อาจจะมีการยื่นตีความประเด็นอายุของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็เป็นได้ ซึ่งไม่แน่อาจจะอยู่ครบ 4 ปี หรือปี 2570