จากกรณีที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  แถลงข่าวมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ชั้นเด็กเล็ก-ป.6 ทั่วประเทศ แม้ปีที่ผ่านมาได้ขอปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันจาก 20 บาท เป็น 21 บาทแล้วก็ตาม แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ค่าครองชีพได้ปรับสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนของการประกอบอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย ศธ.ได้เล็งเห็นปัญหาและกลับมาทบทวนตัวเลขที่เหมาะสมของอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพมากที่สุด ให้โภชนาการครบ 5 หมู่ เพราะเป็นช่วงวัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่งผลต่อพัฒนาการด้านกายภาพและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับมติ ครม. ที่ได้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวัน ได้ปรับอัตราให้ตามขนาดของโรงเรียนต่อคนต่อวัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม จะปรับเพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ย 24 บาทต่อคนต่อวัน จากเดิมอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 บาทต่อคนต่อวัน โดยมีเกณฑ์ดังนี้ โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน นักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน นักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน นักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากนั้น

 

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ในจังหวัดชัยนาท มีเสียงจาก ทางฝั่งผู้ปกครองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขึ้นเฉลี่ย หัวละ 3 บาท โรงเรียนใหญ่ เพิ่ม 1 บาท นั้นคงไม่เพียงต่อต่อโภชนาการของเด็กๆ การเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กๆนั้นเป็นเรื่องดี เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่หากจะปรับขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ เฉลี่ยหัวละ 3 บาท ควรปรับ 5 บาท ทุกโรงเรียนจะดีกว่า เพราะเอาเข้าจริงๆ เงิน 3 บาท ซื้อไข่ไก่ฟองเดียวยังไม่ได้เลย ข้าวของก็แพงขึ้นทุกอย่าง เพิ่มแค่เท่านี้ก็เหมือนไม่เพิ่มอะไร เรื่องเกี่ยวกับวงการศึกษาทุกมิติ ภาครัฐควรคิดใหม่ทำใหม่ได้แล้ว เพราะเด็กๆคืออนาคตของชาติ ควรทุ่มงบประมาณให้กับจุดนี้มากกว่าเรื่องไม่จำเป็นอื่น