"บิ๊กป้อม" เปิดกอ.ร่วมรักษาความปลอดภัยเอเปค ระดมเจ้าหน้าที่ 3.5 หมื่น เข้มความปลอดภัยสูงสุด พร้อมขอให้คนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ ช่วยกันแจ้งเบาะแสให้กับตำรวจทราบตลอด 24 ชม. ส่วนการชุมนุมเป็นสิทธิ์ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ลั่น จะไม่ยอมให้ใครมาสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 โดยมีพลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด / พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม / พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ / พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/พลตำรวจเอกสุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้แทนเหล่าทัพ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยในการประชุม รวมถึงรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่วางแผนจะมาชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีด้วย
โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย และร่วมกันปฏิบัติงาน ตามแผนของกองอำนวยการร่วมฯ เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยการประชุมฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด
"เราไม่ได้ทำงานให้กับใครคนใดคนหนึ่ง เราไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาล แต่เราทำเพื่อประเทศชาติ ให้กับคนไทยทุกคน ขอให้คนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ ร่วมสังเกตการณ์หากมีเหตุใดเหตุหนึ่ง ขอให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสให้กับตำรวจทราบได้ที่สายด่วน 191 และ 1599 ตลอด 24 ชม."
ขณะที่ การบริหารจัดการดูแลการชุมนุม พลเอกประวิตร กำชับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทุกฝ่าย แม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิคนอื่น ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทุกรายและมีโทษหนักถึงจำคุก เราจะยอมให้ใครมาสร้างความเสียหายให้กับประเทศไม่ได้โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามยุทธวิธี เป็นขั้นเป็นตอนตามระดับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
หากจะยื่นข้อเรียกร้อง หรือแสดงความคิดเห็น กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสถานที่สำหรับการยื่นหนังสือไว้แล้ว ที่กระทรวงการต่างประเทศและสถานกงสุลที่แจ้งวัฒนะ รวมทั้งการขอให้ใช้สิทธิในการชุมนุม ไปยื่นขอตามสถานที่ที่ได้จัดไว้ให้ หากชุมนุมก็ต้องแจ้งการชุมนุม
ด้านการรักษาความปลอดภัย ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าประจำการในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2565 โดยระดมกำลังตำรวจ ทั้งประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กว่า 35,000 นาย เพื่อระวังป้องกันตัวผู้นำ ตลอดจนสถานที่พัก ที่ประชุม ที่จัดงานเลี้ยงรับรอง และเส้นทางทุกสาย ที่มีขบวนรถผู้นำผ่าน รวมทั้งระดมชุดปฏิบัติการพิเศษ สายตรวจรถยนต์ จากตำรวจภูธรภาค 1,2 และ 7 เข้ามาช่วยในพื้นที่ กทม. เพื่อช่วยในการเฝ้าระวังเหตุและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ครอบคลุมทุกสถานที่ 29 จุด และพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งจัดกำลังเฝ้าระวังบุคคลเป้าหมายที่อาจมีความเคลื่อนไหว และบุคคลตามหมายจับ ทุกรายอีกด้วย หากมีการละเมิดกฎหมายก็จะดำเนินคดีทันที
ด้านการจราจร ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนในช่วงที่มีการประชุม เนื่องจากจะมีการปิดถนน รัชดาภิเษก ช่วงหน้าหอประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (แยกอโศกมนตรี-แยกพระรามสี่) และถนนดวงพิทักษ์ รวมถึงสถานี MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 16-19 พ.ย.65 ทั้งนี้ยังไม่มีความกังวล เนื่องจากในห้วงดังกล่าวรัฐบาลได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ และได้จัดให้มีรถรับส่ง shuttle bus จำนวน 6 คัน คาดว่าเพียงพอสำหรับรับส่งประชาชนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ส่วนมาตรการอำนวยความสะดวกพิธีการคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้เต็มทุกช่องตรวจ ช่องตรวจอัตโนมัติ (Auto Chanel) และจัดชุดช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว แนะนำช่วยเหลือในเรื่องพิธีการคนเข้าเมือง ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากขึ้น