APEC พร้อม ไทยพร้อม เปิด 10 ข้อต้องรู้ก่อนประชุมเอเปค 2022 เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

ประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 18-19  พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  เพื่อต้อนรับผู้นำและรัฐมนตรีเอเปค ซึ่งจะประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี รวมทั้ง คณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค และสื่อมวลชนต่างชาติที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนการประชุมเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

กำหนดการที่สำคัญในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำฯ จะเริ่มจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 15-16  พฤศจิกายน เพื่อสรุปผลการทำงานที่สำคัญของเอเปคตลอดทั้งปี เจรจาจัดทำเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33  ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจของเอเปค ในวันที่ 17 พฤศจิกายน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29  ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อติดตามการประชุมให้ได้ประโยชน์และเกิดองค์ความรู้ คนไทยควรจะรู้อะไรเกี่ยวกับเอเปคบ้าง โดยเวปไซต์ APEC ได้มีการเผยแพร่ 10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ APEC 2022 Thailand ระบุว่า

 


1. APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


2. APEC ก่อตั้งใน 2532 มีเป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน และความร่วมมือในด้านมิติสังคมหรือการพัฒนาด้านต่างๆในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิค เช่น ด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น


3. APEC จัดประชุมครั้งแรกที่ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย มีสมาชิกแรกเริ่ม 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เขตเศรษฐกิจไต้หวัน เวียดนาม และไทย


4. APEC มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงมาก คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก มีประชากรร่วมกันราว 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท หรือเกินครึ่งหนึ่งของ GDP โลก


5. APEC วางกรอบร่วมกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงผู้คน จะสามารถเคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันได้สะดวก ปลอดภัย มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีมาตรฐาน ภายใต้มาตรการที่เอื้อต่อการลงทุนระหว่างกัน


6. APEC มีจุดเด่นคือ รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ โดยจะมีความเป็นทางการน้อยกว่าการประชุมในกรอบอื่น เขตเศรษฐกิจสมาชิกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะมีเสียงเท่าเทียมกัน และสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้ได้โดยสมัครใจหรือเมื่อมีความพร้อม จึงเป็นเสมือนห้องทดลองแนวคิดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จร่วมกัน เช่น บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจ APEC เป็นต้น


7. APEC จัดประชุมโดยประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 4 มีผลลัพธ์สำคัญ คือ การออกแถลงการณ์ประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปค หรือ APEC Secretariat ที่สิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุมและประสานงานเรื่องต่างๆ


สำหรับการเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 2 ของไทย เกิดขึ้นใน ปี 2546 นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 15 ผลลัพธ์สำคัญ คือ การสนับสนุนให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก และการการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 


8. APEC Thailand 2022 หรือปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง การประชุมจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open : Connect : Balance สิ่งที่ประเทศไทยจะผลักดันในกรอบความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่

เปิดกว้างในทุกโอกาส – จะสานต่อการดำเนินงานในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการไหลเวียนสินค้าจำเป็น เช่น วัคซีนโควิด-19 และสินค้าทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล เช่น กระบวนการระบบศุลกากรที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการดำเนินธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และไทยจะส่งเสริมการหารือการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัย


เชื่อมโยงในทุกมิติ – เน้นในเรื่องการกลับมาเชื่อมโยงกันผ่านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19


สมดุลในทุกแง่มุม – เป็นโอกาสดีในการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทย โดยเป็นแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับต่ำ รวมถึงการสานพลังร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและเยาวชน จะผลักดันให้เกิดการใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไทยจะเน้นเรื่องการคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ

 

ทั้งในเรื่องการรักษาป่าไม้ การจัดการขยะทางทะเล และการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ยังมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารด้วย


9. APEC 2022 มี ‘ชะลอม’ เป็นตราสัญลักษณ์ ออกแบบโดย ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดและแรงบันดาลใจมาจากความต้องการนำความเป็นไทยสอดแทรกให้สอดคล้องกับแนวคิด Open :Connect : Balance ซึ่งชะลอมเป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้ใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายและการให้ของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน เสมือนการโอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”


ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ชะลอม ใช้การจัดเรียงเส้นตอกไม้ไผ่สานกันจำนวน 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค Open – ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง Connect – ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง และ Balance – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model การแทรกด้วยสีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึงการเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึงการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียวสื่อถึงความสมดุล


10. APEC ครั้งที่ผ่านมา มีประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคจากนิวซีแลนด์ให้ไทย พร้อมกับการรับมอบไม้พายวากะ (Waka Paddle) อันเปรียบเสมือนการขับเคลื่อนเรือเอเปคต่อไปข้างหน้า

 


ปี 2565 ประเทศไทยจึงเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ด้วยเป้าหมายผลักดันการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม และการประชุมที่จะมีขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ จะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันของผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในบรรยากาศของการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งสามารถฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่า สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้ โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน