เปิดประวัติ "อังกะลุง" เครื่องดนตรีคุ้นหูคนไทย ที่ยูเนสโกประกาศเป็น "มรดกโลก" เกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวเน็ตกลับมาค้นหาข้อมูลกันเพียบ
เป็นอีกหนึ่งกระแสที่ชาวโซเชียลพูดถึงเป็นอย่างมากในวันนี้ (16 พ.ย.65) โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งาน "Google" สำหรับเครื่องดนตรีคุ้นหูชาวไทยอย่าง "อังกะลุง"เมื่อ "Google Doodle" ได้โพสต์ร่วมฉลองการครบรอบที่ "ยูเนสโก" หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า "อังกะลุงอินโดนีเซีย" เป็นงานชิ้นเอกของมรดกมุขปาฐะและมรดกที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หรือมรดกโลกในวันที่ 18 พ.ย. 2553 และสนับสนุนให้ชาวอินโดนีเซียและรัฐบาลอินโดนีเซียสงวนรักษา ถ่ายทอด ส่งเสริมการเล่น และสนับสนุนงานช่างฝีมืออังกะลุง
สำหรับต้นกำเนิดของ "อังกะลุง" นั้นได้ถือกำเนิดที่บริเวณชวาตะวันตกและ บันเติน ของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน โดยชาวซุนดาเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้มานานหลายศตวรรษ ดนตรีอังกะลุงได้กลายเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาคมชาวซุนดาในชวาตะวันตกและบันเติน
ทั้งนี้การเล่นอังกะลุงในฐานะวงดุริยางค์ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานกัน เชื่อกันว่าจะส่งเสริมคุณค่าของการทำงานเป็นทีม การเคารพซึ่งกันและกัน และความกลมกลืนในสังคม โดยปัจจุบันอังกะลุงถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
สำหรับ "อังกะลุงในไทย" เครื่องดนตรีชนิดดังกล่าวได้ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2451 โดย หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อครั้งที่โดยเสด็จจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะชวา โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวง ที่วัดราชาธิวาสในสมัยรัชกาลที่ 6
อังกะลุงชวา ที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 3 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา (อินโดนีเซีย) คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียง
อังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้นมี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมดทั้งตัวอังกะลุงและราง ภายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลงจากการไกวเป็นการเขย่าแทน นับว่าเป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน
เครื่องดนตรีแห่งความพร้อมเพรียงและแสดงความสามัคคี โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1–2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ตเสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุง ที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว