ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ชวนชิมเนื้อโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำสกลนคร สุดภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัตถุดิบหนึ่งในเมนูขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งนี้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเรื่องอาหารปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน GI
นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยนายชานน วาสิกศิริ นายพิสิษฐ์ แร่ทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร หัวหน้าส่วนราชการ ประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ภาคเอกชนและสื่อมวลชน ชวนชิมอาหารที่ปรุงโดยใช้วัตถุดิบ "เนื้อโคขุนโพนยางคำ" ของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร โดยเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เชฟชุมพล แจ้งไพร เป็นผู้คิดรังสรรค์เมนูขึ้นโต๊ะเมนูอาหารไทยต้อนรับผู้นำการประชุม APEC 2022 ในงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (Gala Dinner) วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งเมนูวัตถุดิบเนื้อโคขุนสกลนครได้แก่ แกงมัสมั่นชาววังเนื้อน่อง
ทั้งนี้ นางจุรีรัตน์ กล่าวว่า ในนามชาวจังหวัดสกลนคร และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน รู้สึกภูมิใจ ปลื้มใจและยินดีเป็นอย่างมาก ที่วันนี้ เนื้อโคขุนโพนยางคำ" ของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัตถุดิบหนึ่งในเมนูขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งนี้ โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นเนื้อน่องลาย ซึ่งเป็นเนื้อส่วนตรงน่องของวัว จะมีเส้นเอ็นแทรกอยู่ ลักษณะเป็นเส้นในเนื้อ เนื้อนุ่ม รับประทานง่าย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเรื่องอาหารปลอดภัย มีคุณภาพได้ มาตรฐาน
ด้านนายอุทิศ เคนะอ่อน ประธานกรรมการสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาลและจังหวัดสกลนคร ที่ได้ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพที่ได้มาตรฐานของเนื้อโคขุนสหกรณ์โพนยางคำ ทำให้ยอดจำหน่ายขายดีเป็นลำดับ ตั้งแต่หลังโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ซึ่งภายหลังจากที่เนื้อโคขุนสหกรณ์โพนยางคำ ได้เป็นวัตถุดิบหนึ่งในเมนูขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค ทำให้มียอดจำหน่ายดีขึ้นมาก ทั้งนี้ส่วนที่นำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารขึ้นโต๊ะเอเปคคือส่วนเนื้อน่องลาย ซึ่งจะมีราคากิโลกรัมละ 310 บาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 เนื้อโคขุนสหกรณ์โพนยางคำ จะมียอดจำหน่ายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท
เนื้อโคขุนโพนยางคำ ของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด เป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส ผ่านการดูแลทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้เนื้อที่มีมาตรฐาน รสชาติอร่อย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเมื่อโคพันธุ์ลูกผสมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่ามีสายพันธุ์ที่ตรงตามมาตรฐานมีอายุครบ 2 ปีแล้ว เกษตรกรก็จะเริ่มการขุนโค โดยการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และนำโคเข้าคอก เลี้ยงดูด้วยหญ้า ฟาง และอาหารสูตรพิเศษจากธัญพืช ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เนื้อวัวมีรสหวานและกลิ่นหอมยิ่งขึ้น แถมยังปลอดจากสารเคมี อีกทั้งยังได้ขึ้นทะเบียน "สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์" หรือ (Geographical Indication: GI) ซึ่งเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้าจะมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีการผลิตสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น