ชมรมโรงสีข้าวโคราช วอนรัฐใช้เวที "เอเปค" ดันข้าวไทยและสินค้าเกษตรส่งออกให้มากขึ้น ช่วยประกันราคาไม่ให้ตกต่ำ พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีโรงสีใน จ.พิจิตร ปิดตัวเกือบหมดเหลือโรงสีเพียง 10 โรงเท่านั้น เพราะโดนพิษเศรษฐกิจ อยู่ต่อไม่ไหว ว่า มาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงิน กลไกราคา กำลังรับซื้อผลผลิตจากเกษตร และเรื่องการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมา มีโรงสีที่ยังประกอบกิจการอยู่ประมาณ 20-30 โรง ข้าวที่ส่งเข้าโรงสีเกือบทั้งหมดจะเป็นข้าวนาปี และส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิจึงขายได้ค่อนข้างดี ส่วนปัญหาการขอสินเชื่อก็มีไม่มากนัก ถือว่าสถานการณ์ดีกว่า
แต่การผลักดันอนุมัติโครงการหรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การจ่ายเงินประกันรายได้ - การชดเชย – ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต เป็นต้น เม็ดเงินตกมาถึงเกษตรกรช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะหลังเก็บเกี่ยวข้าว แต่เงินไม่ลงมาสักที เกษตรกรรอไม่ไหว ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง จึงแห่พากันนำข้าวไปขายให้โรงสี เพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้ต้นทุนการผลิต แต่โรงสีมีกำลังรับซื้อในประมาณจำกัด เมื่อเกษตรกรนำข้าวมาขายจำนวนมาก ราคารับซื้อก็จะลดลงตามกลไกราคา ทำให้เกษตรกรขายข้าวไม่ได้ราคา จึงอยากให้รัฐบาลอนุมัติโครงการช่วยเหลือลงมาให้เร็วกว่านี้ เพื่อที่เกษตรกรจะได้นำข้าวเข้าโครงการประกันรายได้ เก็บใส่ยุ้งฉางเอาไว้ขายตอนราคาพุ่งสูงขึ้น
ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบกิจการโรงสี ก็พยายามช่วยอย่างเต็มที่ แต่ก็รับซื้อได้ไม่มากนัก เพราะเงินมีอยู่จำกัดจึงอยากให้รัฐบาลใช้เวทีการประชุมเอเปค 2022 และเวทีการเจรจาการค้าในเขตเศรษฐกิจต่างๆ เป็นโอกาสเร่งส่งเสริมผลักดันสินค้าส่งออกให้มากขึ้น ทั้งข้าวส่งออก รวมไปถึง พืชผลทางการเกษตรและอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยประกันราคาข้าวและสินค้าส่งออกไม่ให้ตกลงด้วย ราคาขายจะได้ไม่ตกต่ำซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกล้าตัดสินปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ รัฐควรใช้เม็ดเงินที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทันสถานการณ์ ควรปรับโครงการที่ให้เงินใช้ฟรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาเป็นโครงการฟื้นฟูสร้างอาชีพ พัฒนาสตาร์ทอัพ - สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตจะดีกว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จะได้มีเม็ดเงินไปปรับปรุงปัจจัยการผลิต ยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนและเกษตรกร จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน