มิจฉาชีพมาแนวใหม่ ปลอมหนังสือราชการ ส่งหาเจ้าของรถให้ไปชำระเงินค่าปรับ ฐานขับรถเร็ว มีเบอร์โทรให้ติดต่อโอนเงินทันที
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อTanakrit Kham ได้โพสต์เรื่องราวลงโซเชียล หลังได้รับใบสั่งค่าปรับฐานขับขี่รถใช้ความเร็วเกินกำหนด ซึ่งในโพสต์ระบุข้อความว่า "ผมได้รับจดหมายให้ไปชำระเงินเนื่องจากขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ที่เกิดเหตุอยู่ที่ถนน 218 กิโลเมตรที่ 34 ตำบลหนอง โสนอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ขับรถด้วยความเร็ว 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งที่รถคันนี้ไม่ได้เคยขับไปในเขตจังหวัดบุรีรัมย์เลย ให้ทุกท่านสังเกตว่า หมายเลขทะเบียนรถ งค.6081 นครราชสีมา รถสี เทา แต่ในภาพถ่ายจะเป็นทะเบียนรถ งค 8081 นครราชสีมา และในภาพถ่ายจะเป็นรถสีขาว และมีเบอร์โทรให้ติดต่อโดยตรง จะสังเกตได้ว่า มีอะไรที่ไม่ตรงกันหลายอย่าง ถ้าท่านได้รับจดหมายหรือใบสั่งแบบนี้ขอให้ท่านอย่าเพิ่งตกใจให้ดูให้ละเอียดก่อนไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องเนื่องจากน่าจะเป็นของพวกมิจฉาชีพครับ"
ซึ่งหลังจากโพสต์ออกไป ชาวโซเชียลต่าเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก
วันนี้ (19 พ.ย.65) ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ไปที่บ้านพักหลังหนึ่ง ต.ไชยมงคล อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พบกับผู้โพสต์ ชื่อ นายธนกฤต ขำคมเขตร์ ซึ่งเปิดเผยว่า มีพนักงานไปรษณีย์มาส่งจดหมายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จ่าหน้าถึงลูกสาวของตน เป็นจดหมายส่งมาจากสถานีตำรวจทางหลวงบุรีรัมย์ กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง และเมื่อเปิดดูก็พบว่า เป็นใบสั่งจากเจ้าพนักงานจราจรเลขที่ 0265196239217 ให้บุตรสาวของตนซึ่งขับรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า สีเทา ไปชำระค่าปรับ เนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.จราจร มาตรา 67 วรรค 1 และมาตรา 152 ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และฝ่าฝืนป้ายจำกัดความเร็ว ผิด พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 5 วงเล็บ 2 และมาตรา 69 โดยกล้องตรวจจับความเร็วได้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 เวลา 08.40 น. บนถนนสาย 218 ช่วงกิโลเมตรที่ 34 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และความเร็วที่ตรวจจับได้คือ 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ไปชำระค่าปรับ จำนวน 500 บาท ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565
แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า มีจุดผิดสังเกตและน่าสงสัยหลายจุด เช่น ภาพรถที่ถูกตรวจจับจะเป็น รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า สีขาว ซึ่งสีและทะเบียนรถไม่ตรงกัน นอกจากนี้ เบอร์โทรของหน่วยงานที่ออกใบสั่งก็เป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่เบอร์โทร.ประจำหน่วยงาน และลูกสาวของตนก็ยังไม่เคยขับรถคันที่กล่าวอ้างไปในพื้นที่ที่ระบุในใบสั่ง รวมถึง ไม่เคยขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตนจึงมองว่า น่าจะเป็นมิจฉาชีพใช้กลอุบายปรับแต่งหนังสือราชการใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร มาหลอกลวงให้โอนชำระเงินค่าปรับ สแกนจ่ายผ่านทางบาร์โค้ดหรือ คิวอาร์โค้ด ซึ่งหากใครหลงเชื่อไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเผลอสแกนจ่ายไปทางช่องทางดังกล่าว ก็อาจสูญเงินหมดบัญชีได้
จึงโพสต์เรื่องราวลงโซเชียล เพื่อเตือนภัยพี่น้องประชาชนได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และอย่าตื่นตระหนกหรือใจร้อน แต่ให้ตรวจสอบเอกสารราชการต่างๆ ที่ส่งมาถึงให้ละเอียด หากผิดปกติ ให้โทรเช็คข้อมูลทางเบอร์โทรประจำของหน่วยงานนั้นๆ อย่าโทรกลับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ระบุไว้ในเอกสาร เพราะอาจโดนแฮ็กข้อมูลได้ ถือเป็นภัยอันตรายที่ใกล้ตัวอย่างมาก มิจฉาชีพจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ มาหลอกลวงประชาชนอยู่เสมอ ขอให้มีสติและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นด้วย