ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด เปิดสามข้ออ้างกฎหมายเจ้าหน้าที่ชอบใช้ขู่
วันที่ 20 พ.ย. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้หน่วยงานภาครัฐและธนาคารพาณิชย์จะได้ออกเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการหลอกลงทุนและการปล่อยกู้ผ่านออนไลน์ แต่ยังคงมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ และที่พบมากขึ้นคือการที่แก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ทวงถามหนี้เงินกู้ พร้อมชักชวนให้ทำการกู้เงินในวงเงินเพิ่มเติม จึงขอแนะนำให้ประชาชนหากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ตั้งสติให้ดี แล้วทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยเพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้รวบรวมข้ออ้างที่คนทวงหนี้ใช้บ่อย ซึ่งมักอ้างกฎหมายมาขู่ให้ลูกหนี้กลัว ดังนั้น สิ่งที่ลูกหนี้ต้องรู้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เช่น
1. การขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งความจริงคือ การไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
2. จะมีการยึดทรัพย์ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องต่อศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน
3. การโทรทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ กฎหมายให้ทวงหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ถ้าประชาชนถูกทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ลูกหนี้สามารถร้องเรียน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร.1213 โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง