เด็กไทยเจ๋งคว้าแชมป์โลกการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WORLD ROBOT OLYMPIAD
การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WORLD ROBOT OLYMPIAD ระดับนานาชาติ ระหว่างวันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองดอร์ทมุนต์ ประเทศ เยอรมนี ตัวแทนประเทศไทยคว้าสองรางวัลใหญ่ โดยทีม ThaiHerbGood จากโรงเรียน อัสสัมชัญลำปาง สมาชิกในทีม 1. นายปพนรัตน์ ฟูใจ 2. นายเขมินท์ พินิตเกียรติสกุล ผู้ควบคุมทีม นายอรรถพล ชื่นกุล คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภท ROBOMISSION รุ่น Senior
และทีม PANYA ROBOT จากสถาบันปัญญาโรบอท กรุงเทพมหานคร สมาชิกในทีม 1.นายโชติพิสุทธิ์ มงคลวิสุทธิ์ 2. นายพิสิษฐ์ มงคลวิสุทธิ์ 3. นายวรกร ฤกษ์สมถวิล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท ROBOSPORTS บรรยากาศในเวทีการแข่งขัน ทันทีที่พิธีกรประกาศรางวัลชนะเลิศบนเวที สร้างเสียงตบมือและความดีใจให้กับทัพนักแข่งตัวแทนประเทศไทยในเวทีนานชาติครั้งนี้เป็นอย่างมาก
โดยล่าสุดวันนี้ ทัพนักแข่งหุ่นยนต์โอลิมปิก เดินทางกลับถึงยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพร้อมกับคณะและเหล่าผู้ปกครอง กว่า 60 ชีวิต ท่ามกลางรอต้อนรับจากผู้ปกครอง กองเชียร์และสื่อมวลชนอย่างอบอุ่น โดยมีทางด้าน นายนิติ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อ (อพวช.เป็นตัวแทนมอบช่อดอกไม้และกล่าวให้ขวัญและกำลังใจแก่เยาวชนกลุ่มนี้
ด้าน นายนิติ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมและการผลิตสื่อ (อพวช. )เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ร่วมการแข่งขันกับเด็กๆในครั้งนี้ พูดได้เต็มปากว่าเด็กไทยเรามีศักยภาพที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เนื่องจากเราเห็นถึงความุ่งมั่นและความสามารถของเด็กไทยเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าเด็กไทยสามารถคว้ารางวัลอันดับ 1 และอันดับ 3 ของการแข่งขัน 3 ประเภท รวมท้ังสิ้น 11 ทีม การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์เป็นการแข่งขันออกแบบและเขียนโปรแกรม หุ่นยนต์ เพื่อทำภารกิจ โดยใช้หุ่นยนต์จาก Lego Education การแข่งขันในโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ครั้งนี้มีทีมเข้าการแข่งขันรวม 365 ทีม จาก 73 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ ผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WRO ประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยส่งเด็กไทยไปแข่งขันในเวทีนานชาติ ระบุว่า หลังจากที่ผ่านช่วงโควิดมา ทำให้การจัดการแข่งขันในประเทศไทยห้วงเวลาที่ผ่านมาอาจทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการคัดเลือกทีมที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีนานาชาติ พอได้มีโอกาสไปแข่งขันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้ง ที่หลายๆชาติได้มาเจอกัน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างหุ่นยนต์ เปรียบเสมือนเสมือนเป็นการเผยแพร่ความคิดในการสร้างหุ่นยนต์ของแต่ละประเทศแล้วมาเจอกันแลกเปลี่ยนมุมมองการออกแบบการสร้างจากหลายๆประเทศ เด็กๆก็จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเวทีมาต่อยอดการสร้างผลงานสู่การนำไปใช้งานได้จริงในอนาคตของประเทศไทย
ด้าน นายปพนรัตน์ ฟูใจ โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง(ตัวแทนนักเรียน) เปิดเผยว่ากว่าจะได้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ต้องเตรียมตัวกันมาเป็นพอได้ไปแข่งขันจริงก็ไม่คาดคิดว่าจะได้เป็นที่หนึ่งของโลกในครั้งนี้ จากการแข่งขันวันแรกที่ได้ต่ำกว่าอันดับที่ 20 จนต้องกลับมาฝึกซ้อมอย่างหนักอีกครั้งจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาให้กับประเทศไทยในครั้งนี้