"เพื่อไทย" โวย สภาฯ ล่ม เพราะมี ส.ส.โดดประชุมไปเช็คชื่อบ้านป่ารอยต่อฯ ชี้สะท้อนสภาวะว่ารัฐบาลไปต่อยาก เรียกร้อง "บิ๊กตู่" ยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน
วันที่ 23 พ.ย.65 ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายสมคิด เชื้อคง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นางสวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร และนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ร่วมแถลงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำวันที่ 23 พ.ย.65 ล่มระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า การประชุมสภาฯ หลังเอเปก เปิดมาวันแรกก็เกิดเหตุการณ์สภาฯ ล่ม เป็นสัญญาณบ่งชี้ทางด้านการเมืองที่สะท้อนถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ โดยอ้างอิงว่าวันนี้มีการเช็คชื่อ ส.ส. ที่บ้านมูลธิป่ารอยต่อฯ แม้ฝ่ายค้านจะไม่ติดใจในประเด็นนี้แต่เห็นว่าเนื่องจากเป็นวันประชุมสภาฯ
พร้อมระบุว่าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการได้แก้ไขด้วยเพราะมีการเปลี่ยนไปจากหลักการเดิม โดยเฉพาะการที่ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ก็จะทำให้ผู้ที่ถูกถอนนั้นถูกหลุดออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการลงมติ หรือการตรวจสอบใด ๆ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความกังวล
แต่เมื่อกระบวนการดำเนินการมาถึงการพิจารณามาตรา 9/1 ซึ่งเป็นการสงวนคำแปรญัตติของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่กำหนดว่า "หลังจากที่มีการเข้าชื่อถอดถอนกันแล้ว ให้มีกระบวนการเข้าสู่การลงมติของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะให้ถอดถอนได้ ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าชื่อให้ครบจำนวน 5,000 ชื่อ แล้วจะทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรายนั้นหลุดออกจากตำแหน่ง"
ซึ่งประธานสภาที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมมีการถามคำถามชัดเจน เชื่อว่าทุกคนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเข้าใจ แต่เมื่อมีการลงมติรอบแรกผลคะแนนให้มีการเพิ่มมาตรา 9/1 ซึ่งถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายค้านชนะการโหวตในสภาฯ แต่กลับมีการท้วงติงจากสมาชิกบางคน โดยอ้างอิงว่าเข้าใจในคำถามผิด แล้วประธาน "ชวน" เปิดให้โหวตว่าจะลงมติใหม่หรือไม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งสุดท้ายเสียงข้างมากในสภารัฐบาลใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง กว่าองค์ประชุมจะเพียงพอในการลงมติ ว่าให้กลับไปโหวตใหม่ได้ แต่ฝ่ายค้านคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบ จึงไม่ขอร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตรอบใหม่ และทักท้วงว่าเป็นการริดรอนสิทธิของพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ที่นาน ๆ จะชนะหมด แต่มีการลงมติมาปล้นชัยชนะคืน จึงยอมไม่ได้ จากนั้นมีการตรวจสอบองค์ประชุมในเวลา 14:00 น. เพื่อที่จะลงมติใหม่ในมาตรา 9/1 แต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ การประชุมต้องล่มและปิดไป
นายจุลพันธ์ ชี้ว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า แม้จะมีข่าวทางพรรคร่วมรัฐบาลจะชื่นมื่นหรือมีความปรองดอง ใน ครม. และจะลาก ครม. ไปจนถึงครบเทอม แต่เมื่อประเมินสภาวะในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ เชื่อว่าสภาจะเดินต่อลำบาก จึงเรียกร้องไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าหมดเวลาฮันนีมูน ขอให้ยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน