นายกฯ ยินดี "มิชลินไกด์" ประเทศไทย ประจำปี 2566 คัดเลือกร้านอาหาร และ Street Food ไทย กว่า 189 ร้าน พร้อมชื่นชมไทยเป็น "ดินแดนสวรรค์ด้าน Street Food" สะท้อนศักยภาพและวัฒนธรรมอาหารไทย
วันที่ 24 พ.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีกับร้านอาหารและ Street Food ไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากมิชลิน ไกด์ (MICHELIN Guide) ประเทศไทย ประจำปี 2566 ให้ได้รับสัญลักษณ์ “บิบ กูร์มองด์” (Bib Gourmand) จำนวน 189 ร้าน สะท้อนศักยภาพและวัฒนธรรมอาหารของไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ร้านอาหารและ Street Food ไทยทั้ง 189 ร้าน มีร้านที่ได้รับการคัดเลือกครั้งแรก 53 ร้าน และร้านที่ได้รับการเลื่อนระดับจากปีก่อน 6 ร้าน แบ่งเป็นรายจังหวัด ดังนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 82 ร้าน, อยุธยา 13 ร้าน, เชียงใหม่ 27 ร้าน, ภูเก็ต 23 ร้าน, พังงา 11 ร้าน, นครราชสีมา 9 ร้าน, อุบลราชธานี 6 ร้าน, อุดรธานี 7 ร้าน และขอนแก่น 11 ร้าน
โดยเกณฑ์การคัดเลือกจะต้องผ่านการประเมินทั้งสิ้น 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ 2. ความโดดเด่นของรสชาติและเทคนิคการรังสรรค์อาหาร 3. เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่นำเสนอผ่านมื้ออาหาร 4. ความคุ้มค่าสมราคา และ 5. ความคงที่ของประสบการณ์ในการทานต่างวาระ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของอาหารไทยที่โดดเด่น โดยเฉพาะร้านอาหารประเภท Street Food รวมทั้งยังได้รับการชื่นชมจากผู้จัดทำคู่มือมิชลิน ไกด์ ว่า วัฒนธรรมอาหารไทยเป็น “ดินแดนสวรรค์ของ Street Food” (Ultimate street food haven) ที่มีการนำเสนออาหารอร่อย มีความหลากหลายของรสชาติ และสร้างประสบการณ์ในการทานอาหารได้อีกด้วย เนื่องจากสามารถพบเห็นทุกแห่งทั่วประเทศไทย
“รัฐบาลคำนึงถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งการคัดเลือกจากมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ทั้งประเทศและส่วนของท้องถิ่น เช่นเดียวกับการนำเสนออาหารไทยในงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจ และผู้นำประเทศที่เข้าร่วมชื่นชมและประทับใจเป็นอย่างมาก ถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ สอดแทรก Soft Power ในสาระ รูปแบบ และพิธีการของการจัดประชุมได้อย่างดี ในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งเสริมการบริโภคได้อีกมาก” นายอนุชาฯ กล่าว