อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดสั่งฟ้อง "ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์" ในความผิดยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และสั่งไม่ฟ้อง "ธนาธร" ในคดีขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง กรณีถือหุ้นสื่อ
วันที่ 30 พ.ย. 2565 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุงยงปลุกปั่น โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้ต้องหาที่ 2 และนางสาวพรรณิการ์ วานิช เป็นผู้ต้องหาที่ 3
คดีนี้ อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งชี้ขาด ให้ฟ้องนายธนาธร นายปิยบุตร และนางสาวพรรณิการ์ ฐานร่วมกันล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2, 6, 34, 49 และ 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116 (2), (3) โดยให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การผู้ต้องหาทั้งสามให้ถูกต้องครบถ้วนตามฐานความผิดที่อัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้อง และปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก่อนยื่นฟ้องคดีต่อไป
ขณะที่ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3) ในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ต้องหา จากกรณีถือหุ้นสื่อ โดยได้ทำการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อที่ตนได้ถือหุ้นไว้ให้แก่ผู้เป็นมารดา และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 นั้น
อัยการสูงสุดพิจารณาคดีแล้ว มีความเห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ จึงมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง