สรุปดราม่า "ธนาธร" แฉกลางสภาฯปม "ปลดล็อกท้องถิ่น" โชว์ "น้ำประปา" ที่ร้อยเอ็ดสีสนิม ลามกองเชียร์ "เพื่อไทย - คณะก้าวหน้า" ซัดกันนัว เรื่องนี้ใครต้องรับผิดชอบ

เป็นกระแสดราม่าให้คอการเมืองให้ได้ติดตามกันอย่างต่อเนื่องสืบเนื่องจากการอภิปรายของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ได้เข้ารัฐสภาเพื่ออภิปรายนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ปลดล็อกท้องถิ่น” เพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการตัวเอง

โดยในช่วงหนึ่ง นายธนาธร ได้มีการชูขวดน้ำประปาจาก อบต.พนมไพร อ.ค้อใหญ่ ร้อยเอ็ด พร้อมกล่าวว่า น้ำประปาในตำบลส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีสภาพเช่นนี้ มีปัญหาขุ่นข้น กำหนดเวลาเปิดปิด ประชาชนต้องดิ้นรนหาน้ำสะอาดเอง การจะลงทุนเพื่อปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาด สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อตำบล ซึ่ง อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีอิสระและไม่มีงบประมาณของท้องถิ่น หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ท้องถิ่นต้องใช้คือการวิ่งเต้นของบประมาณจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหลายเรื่องผ่านไปหลายสิบปี โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ


ขณะเดียวในทวิตเตอร์ของ "คณะก้าวหน้า" ได้มีการโพสต์คำพูดของนายธนาธรเรื่องนี้พร้อมข้อความว่า "นี่คือน้ำที่เก็บมาจากพื้นที่ อบต.ค้อใหญ่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด น้ำขุ่นข้นเป็นสีชานม ตราบใดที่ท้องถิ่นยังถูกตัดงบ ตัดอำนาจ ประชาชนไทยนับล้านๆคนก็ยังคงต้องทนกับน้ำประปาแบบนี้ คุณภาพชีวิตที่แทบไม่ต่างจาก 50 ปีที่แล้ว #ปลดล็อกท้องถิ่น"

 

ร้อนถึง "ส.ส.เพื่อไทย" นายจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดร้อยเอ็ด ต้องเข้าไปคอมเมนต์ตอบกลับโดยระบุว่า "น้ำประปาที่พูดถึงอยู่ในความดูแลของ อบต.ค้อใหญ่ ของคณะก้าวหน้าค่ะ แต่ใดๆ เขียนชี้แจงแทนไปแล้วว่า เขางบฯ ไม่พอ กฎระเบียบเป็นอุปสรรค ถึงเรียกร้องให้กระจายอำนาจ (อย่างแท้จริง) จะให้ ส.ส.ช่วยแปรญัตติงบฯ ก็ทำไม่ได้ค่ะ รธน.60 ห้ามไม่ให้ทำ"

 

ทำให้ในโลกโซเชียลบรรดาแฟนคลับทั้งสองพรรคถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก Street Hero V3 โพสต์ข้อความ “จับโป๊ะ” ว่า สิ่งที่ “ธนาธร” พูดนั้น เป็นการพูดไม่หมด จึงขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้

 

1. นายก อบต.ค้อใหญ่ เป็นคนของคณะก้าวหน้า และ ส.ส.ในพื้นที่เป็นของพรรคเพื่อไทย


2. น้ำดิบที่ทำน้ำประปาในพื้นที่ ดึงมาจากแม่น้ำชี และขุดน้ำบาดาล ส่วนใหญ่ต้องได้รับการบำบัดด้วยคลอรีน และสารส้มให้ตกตะกอนก่อนนำไปใช้

3. ช่วงหน้าฝน น้ำดิบที่ดึงมาใช้ จะมีตะกอนจากชั้นหินแดงมาก และสะสมในบ่อพักและท่อ ทำให้เป็นสีสนิมตามที่ “ธนาธร” ยกมา แต่ถ้ามีการล้างท่อ และถังพักปัญหาดังกล่าวจะลดลง


คำถามคือ “ส.ส.เพื่อไทย” และ “นายก อบต.จากคณะก้าวหน้า” ได้ทำหรือไม่ และได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบหรือไม่ อีกคำถามคือ การบริหารน้ำในหมู่บ้านได้โอนย้ายมาที่ อบต.หรือยัง และตั้งงบประมาณแก้ไขในจุดดังกล่าว หรือไม่

 

4. ยิ่งบอกว่าถ้าเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการเอง จะทำให้ได้น้ำสะอาด โรงเรียนคุณภาพ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น เหมือนเสกได้ คุณมั่วแล้วครับ

 

การเพิ่มงบให้ท้องถิ่นมันเป็นดาบสองคม ถ้าท้องถิ่นไหนเศรษฐกิจดี เงินบำรุงก็จะเยอะ ท้องถิ่นมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่แห้งแล้ง น้ำท่วม เป็นป่าเขา เงินบำรุงก็จะน้อย ความห่างของชุมชน ก็จะมากขึ้น

 

ที่สำคัญ เงินท้องถิ่นเพิ่มทำให้เงินส่วนกลางลดลง การที่รัฐบาลจะทำโครงการช่วยพื้นที่อ่อนแอก็จะลดลงและล้มเหลวในตอนสุดท้าย