"นายกฯ" ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ มุ่งกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เท่าทันนวัตกรรม

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยนโยบายกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น และผลักดันแนวคิดการกระจายอำนาจภาครัฐไปสู่ท้องถิ่น รวมทั้งปรับองค์กรภาครัฐ (Government Reengineering) ให้มีความคล่องตัว และมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) และความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 6 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุล และการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ ตามแผนงานย่อย ดังนี้

- ภาครัฐเพื่อประชาชน เพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐให้มีความทันสมัย มีความยืดหยุ่น ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเงิน การคลังภาครัฐ ให้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน
- ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส สะดวกและสุจริต โดยประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบประเมินผลได้
- กระจายอำนาจอย่างเหมาะสม ปรับตัวให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง เหมาะสมต่อภารกิจการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีระบบภาษีและรายได้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
- พัฒนาค่านิยมในการทำงาน บุคลากรภาครัฐเป็นคนเก่งที่ดี ยึดมั่นในคุณธรรม และทำงานเพื่อประชาชน ภายใต้การสนับสนุนพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ภาครัฐ
- ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งจากการทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา เห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีได้เห็นศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ เดินหน้ากระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและสร้างโอกาสการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนา และประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน โดยการสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหา การย้ายถิ่นฐาน

โดยได้ 1. ส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย ได้แก่ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดน เพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค และเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง 2. ส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ

ตลอดจนได้พัฒนาโครงสร้าง และระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ การปรับเปลี่ยนกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการที่มีความสำคัญ ต่อการประกอบธุรกิจและดำเนินชีวิตของประชาชนให้เป็นระบบดิจิทัล การพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ในการบริหารราชการแผ่นดิน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐสู่สาธารณะ การส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนากลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริการสาธารณะ และการตรวจสอบภาครัฐ และการปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน

"นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ ไม่เพียงแต่เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ แต่รัฐบาลเชื่อว่า การกระจายอำนาจนั้นต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นระบบ ตรวจสอบได้ ตอบสนองต่อความแตกต่าง และความต้องการของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม ซึ่งตลอดเวลาของการทำงาน นายกรัฐมนตรีใช้หลักการเหล่านี้ มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม กระจายความเจริญอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน" นายอนุชาฯ กล่าว