จากข้อความป้ายแก้ง่วง บนทางหลวงสาย 340 ดอนสาลี-สุพรรณบุรี ผู้สื่อข่าวสืบหาข้อมูลมาให้แล้ว พบเป็นจากการวิจัยร่วมกันของ 2 หน่วยงาน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการหลับใน
วันที่ 7 ธันวาคม 2565 กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพป้ายบอกทางริมถนนแห่งหนึ่งลงในกลุ่ม Future of Thailand ซึ่งป้ายดังกล่าวระบุว่าเป็นเขตแก้ง่วง พร้อมคำถามสั้น ๆ อย่างเช่น “โลมาเป็นปลาหรือไม่” และ “ฉลามวาฬเป็นฉลามหรือวาฬ” โดยแต่ละคำถามจะมีคำตอบ แต่ป้ายคำตอบจะห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ขณะที่เจ้าของโพสต์ได้ระบุว่า “ป้ายแบบนี้ใครจะอ่าน ผมนี่ไง!!! แล้วเดือดร้อนต้องหาป้ายเฉลยอีก แล้วป้ายเฉลยห่างไปตั้ง 2 กิโลเมตร มีเวลาให้พอเถียงกับคนข้าง ๆ ได้” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความเห็น และถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก โดยมีคนเปิดเผยพิกัดของป้ายดังกล่าวว่าอยู่บนถนนเส้นหลัก 340 สุพรรณ บางบัวทอง ขาขึ้น ชัยนาท
ผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบป้ายดังกล่าว พบว่า ตั้งอยู่บนถนนสาย 340 ตอน สาลี-สุพรรณบุรี ระหว่างกิโลเมตรที่ 50-70 ขาเข้าสุพรรณบุรี ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนที่เดินทางเห็นป้ายดังกล่าวก็เกิดความสงสัยกับป้ายคำถาม ว่าป้ายดังกล่าวมีไว้เพื่ออะไร เมื่อขับรถมาเจอป้ายคำตอบก็ถึงบางอ้อ
นายวิญญู สัตบุตร ชาวอำเภอเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า รู้สึกดีที่เห็นป้ายคำถาม ทำให้คิดตามว่าป้ายดังกล่าวคืออะไร ซึ่งเป็นการติดตามจากป้ายคำถามแรกที่เห็น ว่าคืออะไร พอมาเห็นป้ายคำตอบที่ 2 ก็เริ่มรู้คำตอบ ซึ่งก็มาลุ้นดูว่าข้างหน้าจะมีป้ายต่อไปไหม จะมีคำถามอีกหรือไม่ ซึ่งตนเองก็ยอมรับว่าหายง่วงจริงๆ นอกจากนี้ยังได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย เพราะป้ายที่นำมาถามบางคนไม่รู้ว่า “โลมาเป็นปลาหรือไม่” ซึ่งคำตอบจากป้ายคือไม่ใช่ปลา เพราะเด็กๆ บางคนอาจจะเข้าผิดว่าปลาโลมาเป็นปลา ทำให้ต้องหาคำตอบกัน
นายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 เปิดเผยว่า โครงการติดป้ายเพื่อแก้ง่วง เป็นการนำร่องโครงการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน เป็นการบูรณาการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่าง สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง และสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ทราบถึงปัจจัยและสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง โดยโครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งแนวคิดก็จะมีป้ายชุดคำถามให้ประชาชนที่ขับขี่รถบนถนนได้เกิดการตื่นตัวในการขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีการตีเส้นโชว์เดอร์ นัมเบอร์ซิกซ์ เพื่อเป็นการเตือนเมื่อรถเสียหลักออกจากเลนจะมีการเกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้น เป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่ขับรถหลับในตื่นตัว ส่วนผลการตอบนั้นมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระแสตอบรับที่ดี การที่ขับรถผ่านไปมาแล้วมีคำถาม ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวกับผู้ขับขี่ด้วย
สำหรับการดำเนินการโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ใน 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 340 ตอนควบคุม 0301 สาลี - สุพรรณบุรี กม.ที่ 50+000 -70+000 ขาออก แขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 จ.สุพรรณบุรี -ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนควบคุม 0301-0302 ประตูน้ำพระอินทร์ – หนองแค กม.ที่ 76+000 – 56+000 ขาเข้า แขวงทางหลวงอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ทางหลวงหมายเลข 344 ตอนควบคุม 0102-0103 หนองรี – คลองเขต กม.ที่ 20+350 – 40+350 ขาออก แขวงทางหลวงชลบุรีที่ 1 จ.ชลบุรี การดำเนินงานโครงการในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ และสรุปผล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งหากการดำเนินการวิจัยร่วมกันแล้วเสร็จ สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง จะนำเสนอผลการดำเนินงานให้ประชาชนรับทราบ และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้ทาง