"สนธิญา" ร้อง กกต.ตรวจสอบนโยบายเงินเดือน 2.5 หมื่น - ค่าแรง 600 บาท และถมทะเลของเพื่อไทย เชื่อขายฝันทำลายเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ "อุ๊งอิ๊งค์" ไม่สมควรเป็นนายกฯ

นายสนธิญา สวัสดี  อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่แถลงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

โดยนายสนธิญา กล่าวว่า การมายื่นครั้งนี้มายื่นใน 3 ประเด็น 1.การถมทะเลในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร  เพื่อกันน้ำทะเลหนุนท่วม  นโยบายดังกล่าวตนได้ยินมาในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และตนก็ได้คัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งโครงการที่พรรคเพื่อไทยพูดเกี่ยวกับโครงการนี้ได้รับฟังความคิดเห็นหรือทำประชามติกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ตนฟันธงว่าการถมทะเลไม่สามารถกระทำได้  ตนมองว่าเป็นนโยบายขายฝัน ที่ผ่านมาฝ่ายค้านด่ารัฐบาลว่ากู้เงิน แล้วโครงการถมทะเลใช้งบฯ กว่าแสนล้าน แล้วจะเอาเงินจากที่ไหน นั่นก็คือจะต้องไปกู้

 

ประเด็นที่ 2 เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท  ถ้าทำได้ตนยินดีด้วย   แต่ถ้าเรามองบริบทในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น เมียนมา  ลาว กัมพูชา  ต่างมีค่าแรงต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น    ซึ่งตอนนี้ไทยมีค่าแรงอยู่ที่ 334 บาท ส่วนค่าแรงของประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามมีค่าแรงเพียง 234 บาท หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ก็จะต้องปรับขึ้นค่าแรงปี 70 บาท นั่นหมายถึงว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องปรับขึ้นค่าแรงในปี 2566 เป็น 440 บาท และจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี 2570 ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบในการจ่ายค่าแรงคือบริษัทเอกชน และเมื่อวานนี้  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ระบุ ว่าการขึ้นค่าแรงนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณ ถ้าพูดเช่นนี้ตนมองว่าไม่สมควรเป็นนายกฯ หรือแคนดิเดต เพราะการปรับขึ้นค่าแรง 600 บาท จะกระทบไปทุกวงจรของประเทศไทย และต้องใช้งบประมาณของรัฐบาล  ที่ น.ส.แพทองธาร เป็นการพูดโดยไม่เข้าใจในบริบทของราชการ และต้องถามว่าเมื่อค่าแรงขึ้น  ค่าใช้จ่ายอื่นๆก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย 

 

"สิ่งที่ผมมองลึกไปกว่านั้น นี่คือนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการสกัดกลุ่มบริษัทของประเทศซาอุดิอาระเบีย   ที่กำลังจะเข้ามาลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2566   หรือเป็นการสกัดบางบริษัทที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนโยบายนี้เป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน"

 

ส่วนประเด็นที่ 3 การขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี 25,000 บาท ต้องถามกลับไปว่าคนที่จบปริญญาตรีที่จบ 25,000 บาท กับคนที่ทำงานมาแล้ว 3 ปี ได้เงินเดือนมาแล้ว 18,000 บาท จะเป็นธรรมกับเขาหรือไม่ และมองว่าจะกระทบกับระบบราชการ ซึ่งการประกาศเป็นของกรมแรงงาน และเมื่อเป็นนโยบายของรัฐ จะต้องไปปรับเงินเดือนให้กับราชการ บริษัทเอกชน นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่มองว่าถ้าจะปรับฐานเงินเดือนจะต้องดูบริบทของประเทศและเศรษฐกิจ เพราะนโยบายเหล่านี้ได้ประกาศแล้วจะกระทบเป็นลูกโซ่ และที่สำคัญการประกาศนโยบายต้องเป็นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง   มาตรา 57 (1) (2) (3) จึงมายื่นต่อ กกต.เพื่อให้พิจารณาให้เป็นตามกฎหมาย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายค่าแรง 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ขัดต่อกฎหมายอย่างไร นายสนธิญา กล่าวว่า ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่านโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน  การประกาศนโยบายนั้นจะต้องมี 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ    2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินการนโยบายนั้นๆ และ 3.ผลกระทบและความเสียงการดำเนินการนโยบายนั้นๆ ซึ่งในกรณีที่พรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตาม 3 ข้อข้างต้น ให้ กกต.สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วจึงจะประกาศเป็นนโยบายได้ วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาในบางเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด  ซึ่งมาจากนโยบายแห่งรัฐนโยบายของพรรคการเมือง  ตนจึงไม่อยากเห็นการหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนำนโยบายที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่สามารถทำตามที่แถลงต่อประชาชนได้  แต่มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเลือก ตนไม่อยากเห็นนโยบายอย่างนั้น  จึงขอให้ กกต.วินิจฉัย

 

เมื่อถามว่าการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเป็นการตีตนไปก่อนไข้หรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ไม่ใช่การการตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการทำให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทุกพรรคการเมือง  ที่จะดำเนินนโยบายต่อไปเพื่อให้อยู่บนฐานความเป็นจริงและความเป็นไปได้   ซึ่งหลังจากนี้พรรคไหนก็ตามที่มีนโยบายลักษณะนี้และไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ กกต.ก็ต้องไปตรวจสอบ   และตนยืนยันว่าจะยื่นตรวจสอบทุกพรรค    

 

ส่วนกรณีนโยบายเก่าของพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงค่าแรง 425 บาทนั้น ต้องเข้าใจว่าปี 2560-2562 ประเทศไทยเจอโควิด-19 ตอนนั้นโรงงานปิด คนตกงาน สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐที่ทำไม่ได้นั้นก็ขอให้ไปดูบริบท ว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสถานะไหน เมื่อถามย้ำว่าจะยื่นให้ กกต.ตรวจสอบกรณีนโยบายพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ไม่ยื่น เพราะตนอยู่ฝ่ายรัฐบาล

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวของนายสนธิญา มีนายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง มาแสดงความเห็นสนับสนุนนโยบายค่าแรง 600 บาทของพรรคเพื่อไทย โดยต่างฝ่ายต่างชี้แจงความคิดเห็นสนับสนุนในมุมมองของตนเองต่ออีกฝ่ายไปมาอย่างไม่มีข้อสรุป ก่อนจะแยกย้ายกันไปในที่สุด