กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ชี้ กกท. "เจตนา" ละเมิด MOU ที่ทำกับ กสทช. ปม IPTV ไม่ได้ออกอากาศบอลโลก ฝืนกฎ Must Carry ย้ำ กกท.ต้องคืนเงิน 600 ล้านเท่านั้น
ประเด็นดราม่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. หลังจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้อนุมัติเงิน 600 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022
แต่สุดท้าย กกท.กลับยกเลิกและไปทำบันทึกข้อตกลงร่วมอีกอันที่ให้ exclusive right กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และได้ยื่นศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ออกคำสั่งห้าม AIS Playbox ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และ กล่องไอพีทีวี “จอดำ” รวมไปถึงจานดาวเทียม
ล่าสุด ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ
"ว่าจะไม่โพสต์ประเด็นบอลโลก ระหว่างกสทช. กับ กกท. แล้ว เพราะกำลังเป็นเรื่องราวทางกฎหมาย และไม่อยากมีส่วนไปกระพือดราม่า แต่ในฐานะของกสทช. ที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ และเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้อนุมัติการสนับสนุนเงิน 600 ล้านเพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาตั้งแต่ต้น มีสองประเด็นที่คิดว่าน่าจะต้องสร้างความกระจ่างคือ
1) ในการรับเงินสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท กกท. มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช. ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และ กกท.ก็รับทราบก่อนการทำ MOU และการลงนามใน MOU ที่รับการสนับสนุนแล้วว่า กสทช. มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับกฎ must have / must carry ส่วนหนึ่งเพราะ กกท.เคยมีประสบการณ์บริหารสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิคที่ ครม.ได้อนุมัติหลักการให้ กกท. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนการกีฬา (50%) ให้มาขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส (50%) ซึ่งในครั้งนั้น กกท. ก็ได้รับการสนับสนุนไปเช่นเดียวกับครั้งนี้ (แต่ครั้งนี้ไม่มีมติครม.)และทราบเงื่อนไขสำคัญนี้ ของ กสทช. เป็นอย่างดี ซึ่ง กกท. ก็สามารถทำตามกฎทั้ง 2 ได้โดยเรียบร้อยทุกแพลตฟอร์มออกอากาศได้หมด (ยกเว้น OTT ที่ กสทช.ไม่มีขอบเขตอำนาจกำกับดูแล)
ดังนั้น การที่ กสทช. ให้การสนับสนุนไปโดยเสียงข้างมากก็เข้าใจว่า กกท.จะสามารถดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การไปทำข้อตกลงหรือสัญญาใดๆ ตามมาที่ขัดแย้งกับ MOU ที่ได้ทำมาก่อนหน้า แม้จะอ้างข้อจำกัดใดๆ หรือความเห็นใดๆ ที่ไม่ได้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมไม่มีประเด็นให้หักล้างความไม่ชอบธรรมทางกฎหมายได้
2) ในประเด็นที่กสทช.มีมติให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ กกท. ปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน MOU และหากไม่ดำเนินการโดยทันที กสทช.จะดำเนินการแจ้งยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) และให้กกท. คืนเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือนั้น เหตุที่ กสทช. ต้องดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากเงิน 600 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐที่กองทุน กทปส.จะต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่แรก ความเห็นส่วนตัวเราเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจ่ายเงินจากกองทุนอย่างชัดเจน จึงมีความเห็นเป็นเสียงข้างน้อยที่จะไม่ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี กสทช.เป็นการทำงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม มติจึงต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก และเมื่อได้สนับสนุนออกไปแล้วปรากฎว่าการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ MOU จึงมีการออกมติตามมาดังข้างต้น
ในความเห็นส่วนตัว มองว่า ณ จุดนี้ ความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตาม MOU ได้บังเกิดแล้ว การจะยกประโยชน์ให้ฝ่ายที่ละเมิด MOU กับ กสทช.ด้วยการไปยกเลิก MOU อีกอันที่ให้ exclusive right กับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการถ่ายทอดบอลโลกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นผลพวงตามมา ย่อมไม่เป็นการเยียวยาความเสียหายใดๆ และไม่สามารถลบล้างเจตนาที่จะละเมิด MOU กับ กสทช.ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ไปลงนามใน MOU กับผู้ประกอบการรายใหญ่
จึงเรียนมาเพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดความกระจ่างค่ะ"