"ธนกร" ชูความสำเร็จ "นายกฯ" จัดการประชุม APEC ของไทย หนุนศักยภาพการเจรจาธุรกิจส่งผลเพิ่มการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวในไทยทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ภาคเอกชนคาด 3-5 ปีข้างหน้าเงินสะพัด 5-6 แสนล้านบาท
วันที่ 22 ธ.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2565 ของไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยสำหรับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางยุทธศาสตร์ชาติและเดินหน้ามาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล 5G แรงงานที่มีทักษะสูงและส่งเสริมภาคบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผลลัพธ์การประชุมภายใต้แนวคิด "Open. Connect. Balance." มุ่งพัฒนาความร่วมมือ APEC ให้เป็นเขตการค้าเสรี อำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน และปลอดภาษี เพื่อให้สมาชิกเอเปคสามารถนำเข้าส่ง-ส่งออกในเขตเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้น ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต รวมทั้งผลักดันกรอบแนวคิด BCG ให้ 20 เขตเศรษฐกิจยอมรับนำไปขับเคลื่อนต่อ
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนต่างประเทศมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น เห็นได้จาก ในการประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ของภาคเอกชน มีการคาดการณ์ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับระยะยาว (ภายใน 3- 5 ปี) เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ มีการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว และการลงทุนเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางราง คาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (GCC) โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 อุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ใฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท
"ขณะนี้ไทยกำลังเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางอ้อมระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นใน 3-5 เดือนนี้ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล หลังการประชุมเอเปค คือ การประชาสัมพันธ์ Soft Power อัตลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งอาหาร มวยไทย สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กำลังได้รับความนิยมช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น 1-2 แสนคน สร้างรายได้ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส ที่ร่วมการประชุมเอเปค 2022 ในฐานะแขกพิเศษ ช่วยเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งการท่องเที่ยว แรงงาน การค้าและการลงทุน ทำให้วันนี้ไทยกำลังกลายเป็นโมเดลความสำเร็จที่หลายประเทศให้ความสนใจ" นายธนกร กล่าว